ภาษี GMT เขย่า 1,000 บริษัท "คลัง-บีโอไอ" เร่งเคาะมาตรการเยียวยา
บริษัทยักษ์เจอผลกระทบ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม "ภาษี GMT" ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เลขาธิการบีโอไอ เผยบริษัทไทย-เทศราว 1,000 บริษัท ได้รับผลกระทบกฎหมายนี้ แจงบีโอไอเตรียม 2 มาตรการบรรเทาผลกระทบชั่วคราว “ยืดเวลาชำระภาษี-ดึงเงินกองทุนเพิ่มขีดแข่งขันเยียวยา” เร่งนัดถกคลังสรุปแนวทาง “เครดิตภาษีคืน” เยียวยาภาคธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนไว้ ขณะที่กรมสรรพากรเร่งคลอดกฎหมายลูก 20-30 ฉบับ รองรับการคำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแนวทาง OECD บจ.ใหญ่เจอผลกระทบราคาหุ้นดิ่ง TU แจ้งอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT) ในอัตราขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยจะมีผลบังคับใช้แก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises : MNEs) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร (หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท) ตามกรอบของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ขณะที่ปัจจุบันไทยมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% แต่ก็มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้การจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% ดังนั้นเมื่อพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทหลายแห่งจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (Top-up Tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15%
1,000 บริษัทเจอผลกระทบ :
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บีโอไออยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการลดผลกระทบจากการเข้าร่วม OECD หรือการขึ้นภาษี GMT 15% จากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะมีผลกับการวางแผนการลงทุนแน่นอนประมาณ 1,000 บริษัทที่เข้าข่าย เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทผลิตยานยนต์ เป็นต้น
โดยปัจจุบันบีโอไอมีมาตรการ 2 ส่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับบริษัทเหล่านี้ และภายในสัปดาห์หน้า บีโอไอได้นัดหารือกับกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการช่วยลดผลกระทบเพิ่มเติม
บีโอไอ-คลังเร่งแผนรับมือ :
เลขาฯบีโอไอระบุว่า กระทรวงการคลังและ BOI อยู่ระหว่างการหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่กระทรวงการคลังออกกฎหมายเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ขณะนี้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร กำลังเร่งพิจารณาจัดทำกฎหมายใหม่อีกหนึ่งฉบับ เพื่อนำเครื่องมือ “การเครดิตภาษีที่สามารถคืนเป็นเงินสด” (Refundable Tax Credit) มาปรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิธีการที่ OECD แนะนำให้สามารถทำได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบของ Global Minimum Tax
“ในสัปดาห์หน้าบีโอไอได้นัดหารือกับกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการช่วยลดผลกระทบเพิ่มเติม”
นอกจากนี้ BOI ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้อีก 2 ส่วน คือ 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2566 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566) เปิดโอกาสให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ แทนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะให้ระยะเวลานานขึ้น 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้การคำนวณอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate : ETR) ของบริษัทในแต่ละปีใกล้เคียง 15% ก็จะทำให้แต่ละบริษัทเสียภาษีส่วนเพิ่มลดลง และได้รับสิทธิประโยชน์ในระยะเวลานานขึ้น
ดึงเงินกองทุนช่วยชั่วคราว :
และ 2.มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดย BOI จะขอรับการจัดสรรรงบประมาณเพื่อเป็นมาตรการเยียวยาชั่วคราวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ในระหว่างรอกฎหมายใหม่ของกระทรวงการคลัง โดยจะให้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ สำหรับการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามที่กำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับมาตรฐานที่เป็นสากล เป็นต้น
โดยปัจจุบันกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ มีเงินอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท
คลังยันทั่วโลกเก็บ :
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เป็นกติกาภาษีโลก เพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งหน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้งโลก ก็เข้ามาตกลงกันเพื่อจะไม่ให้เกิดการแข่งขันลดภาษี ในเมื่อไทยอยู่ใน OECD แล้ว ก็ต้องออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่หากไทยไม่เก็บต่างประเทศก็เก็บ 15% อยู่ดี
“กติกากฎหมายบอกว่าคุณมีสิทธิเก็บก่อนออกกฎหมายสั้น คุณไม่เก็บประเทศต้นทางเก็บแทน ได้เงินก้อนเดียวกัน เพราะฉะนั้นไทยจึงต้องรีบออก”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของการใช้เงินกองทุน ขีดความสามารถในการแข่งขัน ดูแล จะต้องไปดูก่อน เพราะต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งเบื้องต้น เงินกองทุนประเดิมมีอยู่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งต้องไปดูว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใช้ไปเท่าใดแล้ว
กฤษฎีกาเบรก BOI ใช้เงินภาษี :
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจาฯแล้ว โดยได้รับความเห็นชอบจากทางสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 13 ม.ค.นี้
สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางบีโอไอจะต้องตกลงร่วมกันกับทางกรมสรรพากรอีกครั้ง เพื่อวางแนวทางเกี่ยวกับการ “เครดิตภาษีคืน” (Qualified Refundable Tax Credits : QRTC) จากเดิมที่ร่างกฎหมายเดิม ทางบีโอไอได้ขอให้นำเงินจากภาษีที่เก็บได้เพิ่ม แบ่งสัดส่วนไปเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อจะนำไปจ่ายเยียวยาให้เอกชน แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่า การดำเนินการลักษณะดังกล่าวอาจจะทำไม่ได้ เนื่องจากอาจจะผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ จึงตัดมาตราดังกล่าวออก
“แนวทางจ่ายเยียวยา แทนที่จะนำเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้ไปให้เลย น่าจะเป็นการให้เครดิตภาษีกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการลงทุนตามเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนด ลงทุนเรื่องวิจัยและพัฒนา (R&D) ลงทุนจ้างคน สามารถนำค่าจ้างมาเครดิตภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบได้”
สรรพากรเร่งออก กม.ลูก :
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนี้กรมสรรพากรต้องเร่งออกมาภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ประมาณ 13 ฉบับ ซึ่งจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการคำนวณภาษี รูปแบบการยื่นภาษี โดยการจ่ายภาษีในกรณีนี้ สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2568 กฎหมายกำหนดให้จ่ายภาษีภายใน 18 เดือน หรือภายในปี 2570
เหตุผลที่ไทยต้องเข้าร่วม GMT :
กรมสรรพากรระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจข้ามชาติต่าง ๆ พยายามจัดสรรกำไรและกระจายเงินลงทุนในต่างประเทศที่มีมาตรการดึงดูดการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ประเทศต่าง ๆ แข่งขันกันลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน จนอัตราภาษีที่แท้จริงนั้นลดต่ำลงเรื่อย ๆ OECD จึงเสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติให้เป็นธรรมมากขึ้น
กรมสรรพากรยังระบุว่า “การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษี อันเป็นการรักษาประโยชน์แห่งชาติ เนื่องจากหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ให้แก่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว”
โดยประเทศที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ, เกาหลีใต้, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, ตุรกี, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เยอรมนี, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และเวียดนาม
บริษัทที่ได้รับผลกระทบ :
พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มบังคับใช้เฉพาะกลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก 15% เพื่อจำกัดการแข่งขันทางภาษี
ปลัดคลังยอมรับกระทบตลาดหุ้น :
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เป็นกติกาภาษีโลก เพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งหน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้งโลกก็เข้ามาตกลงกันเพื่อจะไม่ให้เกิดการแข่งขันลดภาษี ในเมื่อไทยอยู่ใน OECD แล้วก็ต้องออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่หากไทยไม่เก็บต่างประเทศก็เก็บ15% อยู่ดี
“กติกากฎหมายบอกว่าคุณมีสิทธิ์เก็บก่อนออกกฎหมายสั้น คุณไม่เก็บประเทศต้นทางเก็บแทน ได้เงินก้อนเดียวกันเพราะฉะนั้นไทยจึงต้องรีบออก”
ทั้งนี้ในส่วนของการใช้เงินกองทุนขีดความสามารถในการแข่งขันดูแล จะต้องไปดูก่อนเพราะต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่ง จากเบื้องต้นเงินกองทุนประเดิมมีอยู่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งต้องไปดูว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใช้ไปเท่าไรแล้ว
หุ้นไทยเจอเอฟเฟ็กต์แรง :
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าการจัดเก็บภาษี GMT ยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ผลกระทบจากพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มได้เกิดขึ้นแล้วกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้น ทำให้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จำนวนมากปรับลดลงจากคาดการณ์ที่ว่าจะต้องมีภาระจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 15%
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้ทำการสรุปบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีฐานรายได้เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษี GMT เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ต่ำกว่า 15% จากที่ได้รับ BOI ของธุรกิจในประเทศ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีแนวทางแก้ไขหรือลดผลกระทบจากกระทรวงการคลังและบีโอไอ
ทั้งนี้ 9 บริษัทจดทะเบียนที่น่าจะได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย
1)บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ในช่วง 9 เดือนปี 2567 มีรายได้รวม 1.6 แสนล้านบาท และจ่ายภาษีที่แท้จริง 2.4% เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI และมีโรงงานหลักอยู่ในไทย ทำให้คาดว่าจะมีภาระภาษีจ่ายเพิ่มขึ้น 12-13%
TU กำลังประเมินผลกระทบ :
2)บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ในปี 2566 รายได้ทั้งกลุ่มอยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งกลุ่มมีอัตราภาษีจ่ายที่แท้จริงอยู่ที่ 7.6% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้สิทธิทางภาษี BOI ในไทย ทำให้ภาษีธุรกิจในไทยอยู่ระดับต่ำ ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลกับทางบริษัทเบื้องต้นแจ้งว่าตอนนี้อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ และรอความชัดเจนของภาครัฐ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือของ BOI ก่อน
3)บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ OECD คือ สหรัฐ และเยอรมนี โดยในปี 2566 มีอัตราภาษีแท้จริงอยู่ที่ 3.2% หากปรับปรุงอัตราภาษีใหม่ขึ้นมาอยู่ที่ 15% คาดจะส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง
อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น ในความเป็นจริงต้องพิจารณาภาษีหลายองค์ประกอบ รวมถึงการรวมธุรกิจกับ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เป็นบ Newco ซึ่งคาดจะทำให้อัตราภาษีอยู่ในระดับใกล้เคียง 15%
กลุ่มโรงไฟฟ้าเสี่ยงเจอภาษีเพิ่ม :
4)บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ OECD คือ สหรัฐ โดยปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 5.9% และ 9.5% ตามลำดับ
5)บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) มีการลงทุนในกลุ่ม OECD คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยปี 2566 และงวด 9 เดือน 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงอยู่ที่ 8.3% และ 14.1% ตามลำดับ
6)บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มีการรับรู้รายได้รวมจากในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งมีการลงทุนในประเทศสมาชิก OECD เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ เป็นต้น โดยในปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 8.1% และ 16% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในประมาณการปี 2568 อัตราภาษีแท้จริงของ BGRIM อยู่ที่ 7.3%
7)บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มีอัตราภาษีแท้จริงปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 ที่ 9.5% และ 1.4% ตามลำดับ ขณะที่ประมาณการปี 2568 อัตราภาษีแท้จริงเกินเกณฑ์ 15% แล้ว จึงคาดจะมีผลกระทบจำกัด
8)บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 13.6% และ 11.6% ตามลำดับและ
9)บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ OECD คือมีสำนักงานตัวแทนในเกาหลีใต้ ปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 7% และ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่า 15% หากปรับปรุงอัตราภาษีใหม่จะส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 มกราคม 2568