ม.หอการค้าฯ ชี้การเมืองยืดเยื้อ-รุนแรง ส่อฉุดท่องเที่ยว สูญรายได้กว่า 5 แสนล.
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า วันนี้ (13 ก.ค.) เป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญ ที่จะได้เห็นภาพของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งภาคเอกชน และผู้ประกอบการต่างจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะไปในทิศทางใด เพราะหากไม่มีรัฐบาล หรือจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า การใช้งบประมาณของภาครัฐจะถูกเลื่อนออกไป จะมีผลต่อทิศทางการลงทุน และงบประมาณที่จะมาขับเคลื่อนในพื้นที่ต่างๆ การที่ไม่มีเจ้ากระทรวงอย่างชัดเจน ส่งผลให้ไม่มีการขยับของโครงการ หรือมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน
ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจึงทำให้เสียโอกาสในการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจจึงอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ยังเป็นกังวลและต้องจับตา คือหากการชุมนุมประท้วงมีความรุนแรง จนเกิดความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยว ในช่วงปลายปี 2566 หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะหายไป เหลือแค่ 1 ล้านคนต่อเดือน จาก 2-3 ล้านคนต่อเดือน และหากการชุมนุมยืดเยื้อไปมากกว่า 6 เดือน นักท่องเที่ยวจะหายไปครึ่งหนึ่ง หรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวจะหายไปรวม 10 ล้านคน หรือสร้างความเสียหายทำให้สูญเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และจะกระทบจีดีพีประมาณ 1% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมชะงักลง แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะประเมิน และคาดว่าไม่น่าจะเหตุความรุนแรงจุดนั้นจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีความกังวลเรื่องสถานการณ์การเมืองศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2566 ไว้ที่กรอบ 3-3.5% และหากการประท้วงไม่มีความรุนแรงจนน่ากลัว ถึงขึ้นทำให้เกิดการเจ็บ เสียชีวิต หรือเผาทำลาย ทุกอย่างก็จะสามารถผ่านไปได้ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ในกรอบ 3.5-4% ซึ่งจะสอดคล้องกับธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ได้ประเมินเศรษฐกิจไทย ขยายตัว 3.9% ซึ่งเชื่อว่าได้มีการประเมินปัจจัยทางการเมืองไปแล้ว
ขณะที่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่นำการเมืองมาถ่วงเป็นปัจจัยลบรุนแรง หอการค้าฯจึงยังมองการเติบโตของเศรษฐกอยู่ที่ 3.5% ยังไม่เปลี่ยนประมาณการณ์ แต่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรง คงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 กรกฏาคม 2566