กรมสารนิเทศจัด APEC Media Focus Group ครั้งที่ 3 นำสื่อมวลชนเยี่ยมชม EECi และโครงการร่วมลงทุนขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group ครั้งที่ 3 ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง สำหรับสื่อมวลชนทั้งต่างชาติและไทย เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และศักยภาพของไทยในการเป็นเจ้าภาพ APEC ในการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการรื้อฟื้นเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19
กิจกรรมเริ่มด้วยการเสวนาหัวข้อ “การขับเคลื่อนข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนใน EEC: บรรลุผลตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (“Advancing Sustainability Initiatives in the EEC: Achieving a BCG and Net-Zero Carbon Reality”) โดยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอธิบายวัตถุประสงค์กิจกรรม APEC Media Focus ครั้งที่ 3
ต่อมา นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย กล่าวเชื่อมโยงเป้าหมายของไทยในการขับเคลื่อนประเด็น BCG ในเอเปคกับการพัฒนาพื้นที่ EECi โดยย้ำว่า EECi เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ จากพิมพ์เขียวเพื่อการสร้างเมืองอัจฉริยะสีเขียว
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนำเสนอรายละเอียดของการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในพื้นที่ EEC ตั้งแต่ช่วงริเริ่มจากการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้ถึงร้อยละ 30 การเปลี่ยนวิธีการขนส่งในพื้นที่เป็นการใช้รถไฟแทนรถบรรทุก การลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการ “EEC Smart Livable City” ซึ่งจะเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครด้วยรถไฟความเร็งสูง และมีเป้าหมายเป็นหนึ่งใน 10 เมืองอัจฉริยะของโลกภายในปี พ.ศ. 2580
นายสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เล่าถึงรายละเอียดของพิมพ์เขียวเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ EEC และการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ ในขณะที่ผู้บรรยายจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพในการส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศผ่านจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 16 ของโลก
ผู้แทนบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงโครงการ “ระยองโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และเก็บค่าบริการในราคาถูก ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันขยะกว่าร้อยละ 80 ในจังหวัดระยองถูกส่งมายังศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ และคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล (VISTEC) อธิบายเกี่ยวกับโครงการ C-ROS ซึ่งเน้นการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของขยะทั้งหมดในประเทศ ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นพลังงานเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมพื้นที่เขตนวัตกรรมฯ โดยได้ร่วมติดตามพัฒนาการสำคัญ ๆ ของโครงการ/ข้อริเริ่มต่าง ๆ อาทิ พื้นที่เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS)
ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 28 เมษายน 2565