ไทยสมัครสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการแล้ว หวังยกระดับประเทศ-ช่วยเศรษฐกิจโต 1.6%
ไทยสมัครสมาชิก OECD แล้ว ปานปรีย์นำคณะยื่นอย่างเป็นทางการ หวังการเข้าเป็นสมาชิก OECD ช่วยยกระดับประเทศไทยรอบด้าน และช่วยเศรษฐกิจโต 1.6% หรือประมาณ 270,000 ล้านบาท
วันที่ 16 เมษายน 2024 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือแสดงเจตจํานงสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) แล้ว ที่สำนักงานใหญ่ OECD ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี นายมาธีอัส คอร์แมนน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD เป็นผู้รับหนังสือแสดงเจตจำนง



หลังยื่นหนังสือแสดงเจตจํานงสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว นายปานปรีย์และคณะประเทศไทยได้เข้าร่วมการหารือวาระพิเศษของคณะมนตรี OECD ซึ่งนายปานปรีย์ได้กล่าวแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของ OECD
นายปานปรีย์กล่าวต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ไทยและ OECD มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ไทยเข้าเป็นภาคีตราสารของ OECD ตราสารแรกเมื่อปี ค.ศ. 1981 นับแต่นั้นมา แนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและมาตรฐานของ OECD ที่ไทยได้นำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ความยั่งยืน และธรรมาภิบาลของประเทศไทย
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD คือ การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ-การค้า และความโปร่งใส ตลอดจนด้านกฎหมายที่จะยกระดับให้เป็นสากลมากย่ิงขึ้น ในส่วนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตขึ้น 1.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 270,000 ล้านบาท
“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เพราะกลุ่มของประเทศสมาชิก OECD เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และเรามีความประสงค์ที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดกับดักมาหลายปี และเรามีความประสงค์จะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ที่คาดว่าจะทำได้ใน พ.ศ. 2580 หรืออาจจะทำได้ก่อนหน้านั้นก็ได้ ถ้าเราสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็ว”
“ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดต่อประชาชนทั่วไป คือ จะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น คนไทยจะทำงานเพิ่มขึ้น การจ้างงานจะมีจำนวนมากขึ้น และ OECD ยังมีแผนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งจะช่วยในการสร้างบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย เพราะเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยขาดแรงงานที่มีศักยภาพ ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไทยจะต้องฏิรูปในส่วนนี้ไปในเวลาเดียวกัน”
นายปานปรีย์ให้ข้อมูลในส่วนการหารือกับคณะมนตรี OECD ว่า ในที่ประชุมมี 3 ประเทศถามถึงความคาดหวังของไทยจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD และถามถึงอุปสรรค-ความท้าทายของประเทศไทย และมีกว่า 20 ประเทศได้ให้การสนับสนุนไทยการไทยมีเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD
“จากสิ่งที่ OECD พูดกับพวกเราในวันนี้ มั่นใจว่าเขาจะให้การสนับสนุนเราเต็มที่ แต่ที่ยังเป็นกังวลคือภายในประเทศของเราที่จะต้องอธิบายและชี้แจง เพราะจะต้องเกิดการปฏิรูป และต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสากล จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจว่าทำไมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าเป็นสมาชิก”
“ผมได้บอกกับทางคณะมนตรีของ OECD ว่า วันนี้เราแสดงความตั้งใจและแสดงเจตนารมน์ที่ชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานของคณะกรรมการเพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ได้เร็วขึ้น”
ส่วนเรื่องระยะเวลากว่าที่ไทยจะได้เป็นสมาชิก OECD นั้น นายปานปรีย์กล่าวว่า ต้องใช้เวลาหลายปี เพราะมีขั้นตอนการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน และขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ได้เร็วแค่ไหน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว


รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศกล่าวอีกว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ได้รับความสนใจจากสมาชิก OECD มาก เพราะไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่ง OECD อยากขยายในภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้ง ไทยทำงานกับ OECD มา 42 ปีแล้ว นับตั้งแต่เข้าเป็นภาคีตราสารแรกเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ และไทยมีการติดต่อประสานงานกับ OECD ตลอดมา จนกระทั่งปี 2018 ไทยได้เริ่มความร่วมมือทวิภาคีกับ OECD ในรูปแบบ Country Programme ครั้งที่ 1 และเมื่อปี 2023 ไทยก็เริ่มทำ Country Programme ระยะที่ 2 ซึ่งถือว่าไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีการทำ Country Programme กับ OECD จึงมองว่ามีแนวโน้มที่ดีในการที่ไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิก OECD
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 (พ.ศ. 2504) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ
OECD มีบทบาทนําในการกําหนดนโยบายระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การต่อต้านคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล การศึกษา นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยประเทศสมาชิก จัดทํานโยบายที่เหมาะสมตามวิสัยทัศน์ “นโยบายที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” (Better Policies for Better Lives)
OECD แบ่งการทำงานออกเป็นคณะกรรมการเชิงเทคนิคด้านต่าง ๆ ครอบคลุมมากกว่า 20 สาขาความเชี่ยวชาญ ประเทศสมาชิกจะร่วมกันกำหนดข้อตกลงเรียกว่า “ตราสาร” (Legal Instruments) และเปิดให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสามารถเลือกเข้าเป็นภาคีใดก็ได้
ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมา OECD มีส่วนร่วมในการกําหนดมาตรฐานระหว่างประเทศมากกว่า 450 รายการ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) และมาตรการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax)
นอกจากนี้ ในแต่ละปี OECD ยังจัดทํารายงานและการวิจัยเชิงวิเคราะห์มากกว่า 500 ฉบับ และนําเสนอข้อมูลมากกว่า 5,000 ล้าน Data Point ให้แก่สมาชิก ประเทศหุ้นส่วน รวมทั้งกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น G7, G20 และ APEC นำไปใช้ประโยชน์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 เมษายน 2567