โลกจะขาดแคลน "นิกเกิลเกรดสูงสุด" ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เมื่อต้นปี 2024 ราคานิกเกิลร่วงลงอย่างแรงจนเป็น "นิวโลว์" ว่ากันว่าเป็น "ขาลง" ของนิกเกิล เพราะมีอุปทานมากเกินความต้องการใช้ แต่เมื่อเดือนเมษายนราคานิกเกิลเริ่มฟื้นตัวขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคำเตือนว่าโลกกำลังจะขาดแคลนนิกเกิลเกรดสูงสุด หรือนิกเกิลที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
น่าสนใจว่า จริง ๆ แล้วดีมานด์กับซัพพลายในตลาดนิกเกิลเป็นอย่างไรแน่?
“นิกเคอิ เอเชีย” (Nikkei Asia) รายงานคำเตือนดังกล่าวนี้ว่า อัลเลน เรย์ เรสเตาโร (Allan Ray Restauro) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมโลหะและเหมืองแร่จากบริษัทวิจัย “บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ” (BloombergNEF) กล่าวเตือนในงาน “Indonesia Miner” เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโลกจะขาดแคลนนิกเกิลคลาส 1 ซึ่งเป็นนิกเกิลเกรดสูงสุดที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
เขาอธิบายว่า ความต้องการใช้นิกเกิลคลาส 1 มีมากเกินกว่าที่ฝั่งผู้ผลิตจะเร่งกำลังการผลิตได้ทันความต้องการใช้ พร้อมกับแสดงข้อมูลแผนภูมิที่บ่งชี้ว่า ภาวะที่อุปทานนิกเกิลคลาส 1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มีแนวโน้มจะเริ่มต้นขึ้นในปี 2029 และจะดำเนินต่อ ๆ ไปในปีหลังจากนั้น
รสเตาโรกล่าวอีกว่า แม้ว่าการเติบโตของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะชะลอตัวในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ก็คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะยังขยายตัวในทศวรรษต่อ ๆ ไป ซึ่งนั่นจะผลักดันความต้องการนิกเกิลคลาส 1 ซึ่งใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
เขาชี้คาดการณ์ให้เห็นภาพว่า อุปทานนิกเกิลที่มีอยู่ทั่วโลกในปี 2030 จะเป็นนิกเกิลคลาส 1 ไม่ถึง 40% ส่วนอีกกว่า 60% นั้นจะเป็นนิกเกิลคลาส 2 หรือเกรดที่ได้มาจากแร่คุณภาพต่ำที่มีอยู่มากในอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในการผลิตสแตนเลส แม้ว่า ณ ปัจจุบัน การผลิตนิกเกิลคลาส 1 กับคลาส 2 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่คาดว่าความต้องการใช้นิกเกิลคลาส 1 จะแซงหน้านิกเกิลคลาส 2 ภายในปี 2030 ในขณะที่การผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตาม
ถึงแม้มีการคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่ผลิตนิกเกิลประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั่วโลกจะขยายกำลังการผลิตในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะผลักดันอุปทานนิกเกิลที่ผ่านการสกัดขั้นต้นโดยภาพรวมของทั้งโลกให้ขึ้นอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านตัน ภายในปี 2030 จากที่มีน้อยกว่า 4 ล้านตันในปี 2023 แต่นั่นก็เป็นการผลิตนิกเกิลคลาส 2 เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การขยายตัวของอุปทานนิกเกิลคลาส 1 นั้นอ่อนแอ
นอกจากนั้น เราสเตาโรบอกว่า สถานการณ์ของนิกเกิลซัลเฟตก็กำลังเป็นไปตามแนวโน้มที่คล้ายกันกับนิกเกิลคลาส 1 คืออุปทานจะตึงตัวมาก ๆ และอาจจะเกิดภาวะอุปทานขาดดุล หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างเร็วที่สุดในปี 2028 แม้ว่ามีบริษัทจีนราว 10 เจ้าที่ตั้งโรงถลุงนิกเกิลในอินโดนีเซีย แต่โรงถลุงส่วนใหญ่ก็ถลุงเพื่อผลิต “Nickel Pig Iron” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับเหล็กกล้าไร้สนิม มีโรงงานเพียงไม่กี่แห่งในอินโดนีเซียที่ผลิตนิกเกิลซัลเฟต ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่
นั่นจึงเป็นความน่ากังวลของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า :
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็อาจจะไม่เลวร้ายมากนัก เพราะอุตสาหกรรมนี้ยังมีตัวเลือกอื่นทดแทนนิกเกิล และเทรนด์ก็กำลังไปทางนั้นแล้ว นั่นคือ แบตเตอรี่ลิเธียมเฟอร์โรฟอสเฟต (LFP) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีนที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก โดย LFP ครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 44% ในปี 2023 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 27% ในปี 2021
ตอนนี้ความกังวลจึงตกอยู่ที่ผู้ผลิตนิกเกิลเองด้วย เพราะแร่ที่ตัวเองมีอยู่นั้นไม่ได้ผูกขาดเป็นแร่สำคัญเพียงตัวเดียวที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต้องการ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 มิถุนายน 2567