นอร์เวย์พบแหล่ง "แร่หายาก" ใหญ่สุด "ชัยชนะ" ของยุโรป-สหรัฐต่อกรจีน?
สัปดาห์ก่อน "แรร์ เอิร์ธส์ นอร์เวย์" (Rare Earths Norway) บริษัทเหมืองแร่สัญชาตินอร์เวย์ ประกาศการขุดค้นพบแหล่งแร่หายาก (แรร์ เอิร์ธ) ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยค้นพบทางตอนใต้ของประเทศ ปริมาณ 8.8 ล้านเมตริกตัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างสมาร์ทโฟน หรือทีวีจอแบน รวมทั้งสินค้าพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทระบุว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการสกัดแร่ดังกล่าวเกิดขึ้นในยุโรปเลย
ฟอร์จูน สื่อของสหรัฐชี้ว่า การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงดีต่อนอร์เวย์เท่านั้น แต่อาจเป็นสิ่งดี ๆ ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก อีกทั้งอาจจะเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีต่อจีน เนื่องจากปัจจุบันจะด้วยความโชคดี หรือเป็นเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้แร่หายากส่วนใหญ่ของโลกนี้ถูกค้นพบและสกัดในจีน ทำให้จีนมีอิทธิพลเป็นพิเศษในตลาดโลก ปัจจุบันการสกัดแร่ดังกล่าว 70% เกิดขึ้นในจีน และก็จีนอีกเช่นกันที่เป็นผู้แปรรูปถึง 90%
การค้นพบแร่หายากของนอร์เวย์เกิดขึ้นในช่วงที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตึงเครียดกับจีน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ โดยยุโรประแวงจีนที่ไปกระชับสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งถูกยุโรปแซงก์ชั่นเพราะรุกรานยูเครน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กำลังไม่พอใจกรณีที่จีนจงใจผลิตสินค้าหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ออกมาสู่ตลาดโลกมากเกินไป
ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาเกิดความกังวล เพราะจีนมีพฤติกรรมควบคุมผูกขาดตลาดแร่หายาก และอาจไปถึงขั้นบงการตลาดด้วยการจงใจกักแร่เอาไว้เพื่อดันราคาให้พุ่งขึ้น และใช้เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาจีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสกัดแร่หายาก และลงทุนมหาศาลในการสกัดแร่หายากตามแหล่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก
นักวิจัยของสถาบันออกซ์ฟอร์ดระบุว่า เมื่อสามารถครอบงำตลาดได้แล้ว รัฐบาลจีนก็หาวิธีปกป้อง โดยปีที่แล้วจีนสั่งห้ามส่งออกเทคโนโลยีที่ใช้สกัดแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียมซึ่งใช้ในการผลิตชิป
“เอมี่ โฮ” ผู้อำนวยการวิจัยเชิงกลยุทธ์ และ จอยซ์ ชาง หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลก เจพีมอร์แกนระบุว่า สภาวะที่จีน “เกือบจะผูกขาด” การทำเหมืองแร่วัตถุดิบที่มีความสำคัญยิ่งยวดในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ อาจกลายเป็นสนามรบถัดไปของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่จะขยายความตึงเครียดมากขึ้น
แม้จีนจะเป็นแหล่งแร่ใหญ่ของโลก ทั้งแร่หายากและแร่จำเป็นอื่น ๆ ทั่วไป แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้จีนสามารถครอบงำตลาดโลกได้อย่างแท้จริง ก็คือความสามารถในการแปรรูปแร่เหล่านี้ โดยนอกจากจะเป็นผู้แปรรูปแร่หายากถึง 90% แล้วยังเป็นผู้แปรรูปแร่จำเป็นอื่น ๆ เช่น กราไฟต์ ซึ่งใช้ในน้ำมันเครื่อง มอเตอร์ไฟฟ้า และแม้แต่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
โดยจีนเป็นผู้แปรรูปกราไฟต์ถึง 100% และยังเป็นผู้แปรรูปโคบอลต์ ซึ่งเป็นแร่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ถึง 74% เป็นต้น การพึ่งพาแร่จำเป็นเหล่านี้จากจีนมากขึ้น ทำให้สหรัฐเกรงว่าจีนจะใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้
ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่จำเป็น 12 ชนิดแบบ 100% โดยในจำนวนนี้นำเข้าจากจีนเป็นหลักถึง 5 ชนิด ที่เหลือนำเข้าจากเยอรมนี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น บราซิล กาบอง
สำหรับความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้แร่เหล่านี้เป็นอาวุธเพื่อตอบโต้สหรัฐหรือไม่นั้น เจพีมอร์แกนชี้ว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจีนจะใช้เป็นอาวุธอย่างจริงจัง หากดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา คาดว่าจีนจะยังคงตอบโต้ในขอบเขตจำกัดและได้สัดส่วน จะยังไม่ถึงกับห้ามส่งออกแบบสิ้นเชิง
เจพีมอร์แกนแนะว่า สหรัฐสามารถสร้างเสถียรภาพด้านซัพพลายแร่จำเป็นเหล่านี้ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า และปกป้องผลกระทบจากสงครามการค้า ด้วยการจัดหาจากแหล่งอื่น การเพิ่มสต๊อกแร่จำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะการเพิ่มศักยภาพการทำเหมืองแร่ของสหรัฐจะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเพื่อทดแทนการนำเข้า เนื่องจากการทำเหมืองแร่ใหม่ต้องใช้เวลาหลายปี โดยเฉลี่ยใช้เวลา 6.5 ปี และยังเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 มิถุนายน 2567