Direct PPA ใครได้-เสียประโยชน์
เป็นความต้องการของเอกชนระดับโลก อย่าง Google ไมโครซอฟท์ แอมะเซอน ที่ระบุเงื่อนไขว่า หากจะเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศ ก็ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องการให้ไทยออกใบอนุญาต ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตเอกชนโดยตรง หรือที่เรียกว่า ระบบ Direct PPA หรือ DPPA ไม่เช่นนั้นจะไปลงที่ประเทศอื่น
ร้อนถึงเซลส์แมนประเทศไทย “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องออกโรงสั่งการให้กระทรวงพลังงานเร่งหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งกำหนดมาตรการให้ตอบโจทย์ของนักลงทุน
การที่ “นักลงทุน” ต่างชาติต้องการใช้พลังงานสะอาดจำนวนมากในการติดตั้งระบบ ใน Data Center นั้น เป็นไปตามเทรนด์ของประเทศทั่วโลกที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050 จึงทำให้ “พลังงานสะอาด” กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน
ซึ่งหากมาดูข้อมูลในประเทศไทยจะพบว่า ไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสัดส่วน 10% ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ปัจจุบัน และกำลังจะขยับเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ หรือ PDP 2024
และในทางปฏิบัติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ ไปก่อนหน้านี้ และกำลังจะเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 3,600 เมกะวัตต์ ในไม่ช้า ดังนั้นเท่ากับว่า “ซัพพลายไฟฟ้าสะอาด” น่าจะตอบโจทย์นักลงทุนได้
แต่ทว่า “ระบบการซื้อขายไฟฟ้า” ของไทยยังเป็นระบบ “ผูกขาดคนซื้อ” คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องผลิตและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปจำหน่ายต่อเท่านั้น ซึ่งการใช้ Direct PPA จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไทยได้เคยจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวแล้ว ((Utility Green Tariff : UGT) แล้ว แต่ติดข้อจำกัดอยู่ตรงที่การซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว UGT ไม่ว่าใครจะผลิตได้ ก็ยังต้องทำผ่านการไฟฟ้ารายเดิมอยู่ดี
นำมาสู่การผลักดัน เรื่อง “DPPA” นั่นคือ “การเปิดเสรี” ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อขายไฟฟ้ากันได้โดยตรง แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเป็นค่าใช้ฟาซิลิตี้สายส่ง ที่เรียกว่า Wheeling Charge ให้เจ้าของสายส่ง ซึ่งจะมี 2 แนวทาง คือ หากซื้อขายกันโดยตรง แต่ใช้ “สายส่ง” ของการไฟฟ้า ก็ต้องมีคนกลาง (Third Party) มาคำนวณค่าใช้สายส่งว่าจะมีอัตราเท่าไร แต่หากการทำ DPPA เกิดขึ้นในอาณาบริเวณนิคมอุตสาหกรรม ก็จะเป็นกรณีที่ 2 คือ ใช้สายส่งของนิคมไม่ต้องผ่านการไฟฟ้า ซึ่งกรณีนี้อาจจะไม่ต้องเสียค่า Wheeling Charge เท่ากับว่า เอกชนจะมีความสะดวกและประหยัดมากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนระบบนี้ ย่อมมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้ว่าจะใช้กับ “ภาคอุตสาหกรรม” ก่อน แต่แน่นอนว่าจะถูกใจเอกชนหลายราย นักลงทุนต่างชาติก็จะเข้ามามากขึ้น ขณะที่ประเทศก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ของการสร้างขุมกำลัง “พลังงานสะอาด” เพื่อรองรับการลงทุนจะเติบโตมากขึ้น และตอบโจทย์สู่เป้าหมาย Net Zero ที่ไทยไปผูกพันไว้ในเวที COP
ส่วนผู้ที่จะรับบทหนักเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น “กฟผ.” ที่ต้องกลืนเลือด เพราะลำพังปัจจุบันยอดขายไฟฟ้าที่ผลิตเองได้ในแผนพีดีพีตอนนี้ก็ลดลงมาก จากเคยเป็นพี่ใหญ่ ก็เหลือแค่ 29% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ และยิ่งหากมีการใช้แผน PDP 2024 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าก็มีแนวโน้มจะลดลงเหลือไม่ถึง 20% เท่ากับรายได้หลักก็โดนหั่น
และยิ่งมาทำ DPPA อีก ก็จะทำให้รายได้เสริมจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากการขาย UGT ก็ลดลงอีก เพราะเป็นการเปิดให้ผู้ผลิต-ผู้ใช้ค้าขายกันเอง และเด้งที่ 3 การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ทำให้ กฟผ.ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องกำลังไฟสำรองเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศให้มีความเสถียรมากขึ้นไปอีก
ส่วนมุมประชาชนอาจจะต้องเตรียมรับมือ “ราคาสินค้าและบริการ” ที่จะสูงขึ้น ตามต้นทุนพลังงานสะอาดหรือไม่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 มิถุนายน 2567