แพลตฟอร์มดิจิทัล...อีกหนึ่งความท้าทายของกฎหมายแข่งขันทางการค้า
พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือ E-Marketplace (Electronic Marketplace)
หลายพฤติกรรมทางธุรกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ) จึงเป็นเหตุให้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) อยู่ไม่น้อย ในคดีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในกลุ่มแพลตฟอร์มดิจิทัล
ประเด็นหลักที่เป็นความท้าทายต่อการทำงานของสำนักงาน กขค. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม คือการกำหนดขอบเขตตลาด เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของแพลตฟอร์มดิจิทัล และด้วยการแข่งขันในตลาดประเภทนี้เป็นการแข่งขันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเครือข่ายให้กับผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของตลาดที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ตลาดที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการกำหนดขอบเขตตลาดและส่วนแบ่งตลาด ซึ่งส่วนแบ่งตลาดนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การระบุว่า
ผู้กระทำความผิดมีสถานภาพเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เพราะหากผู้กระทำความผิดมีสถานภาพเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ย่อมมีความผิดตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งมีบทลงโทษเป็นโทษทางอาญา แต่หากผู้กระทำความผิดไม่มีสถานภาพเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 57 ก็จะเป็นบทลงโทษทางปกครอง
การมีสถานภาพเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดยังเกี่ยวเนื่องกับประเด็นของการควบรวมธุรกิจอีกด้วย กล่าวคือ หากผู้ที่ต้องการควบรวมธุรกิจมีสถานภาพเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ผู้นั้นจำต้องขออนุญาตการควบรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ
นอกจากประเด็นเรื่องการกำหนดขอบเขตตลาดแล้ว ยังมีประเด็นที่ท้าทายอีกหลายประเด็น เช่น การพิสูจน์ว่ามีการกีดกันผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในการเข้าสู่ตลาด การใช้อำนาจตลาดที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น การขายสินค้าหรือบริการต่ำกว่าทุน การร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นในการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ หรือไม่ เป็นต้น
จากประเด็นท้าทายดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สำนักงาน กขค.จำต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์
เช่น การกำหนดเงื่อนไขในการจำกัดทางเลือกในการขนส่งสินค้า การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น การเลือกปฏิบัติต่อคู่ค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การใช้ระบบอัลกอริทึม (Algorithm) ในการแข่งขันด้านราคาหรือการตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
หรือแพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์ เช่น การเรียกเก็บค่าบริการ ค่าใช้จ่าย ค่าจีพี (GP : Gross Profit) จากร้านอาหารสูงขึ้น การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและโฆษณาเพื่อแนะนำร้านในอัตราที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือแพลตฟอร์มบริการขนส่ง
เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิแฟรนไชส์ซี (Franchisee) การกำหนดเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังทำสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น
ประเด็นท้าทายที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ต้องได้รับการแก้ไขและกำกับดูแลอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะส่งผลกระทบทางลบในวงกว้างต่อธุรกิจในหลายภาคส่วน และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของสำนักงาน กขค.อย่างมิอาจปฏิเสธได้
อย่างไรก็ตาม การทำงานของสำนักงาน กขค.จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การยกระดับการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมของเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้นไปอีกขั้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 มิถุนายน 2567