เปิด "4 ประเทศอาเซียน" รับโอกาสทองสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ดึงดูดทุนต่างชาติ
ท่ามกลางสงครามการค้าจีนและสหรัฐ "ภูมิภาคอาเซียน" กลายเป็นเป้าหมายหลักในการกระจายความเสี่ยงและย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ กลายเป็น "4 อันดับประเทศ" ที่น่าจับตามอง
ท่ามกลางสงครามการค้ารวมถึงเทคโนโลยีระหว่าง “จีน” กับ “สหรัฐ” ที่ต่างฝ่ายต่างใช้นโยบายทางภาษีตอบโต้ใส่กัน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “แถบอาเซียน” จึงกลายเป็นภูมิภาคที่ได้รับอานิสงส์จากความขัดแย้งดังกล่าว และเป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ สำหรับบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงบริษัทจีนเองด้วย
กั๋ว-อี้ หลิม (Kuo-Yi Lim) ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Monk’s Hill Ventures บริษัทเงินร่วมลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากปรากฏการณ์ China+1 เนื่องจากทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทจีนต่างกำลังกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงาน โดยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเริ่มต้นระหว่างการล็อกดาวน์โควิด ได้เร่งกระบวนการเหล่านี้”
ทั้งนี้ กลยุทธ์ “จีน+1” คือ การลดความเสี่ยงพึ่งพาตลาดและห่วงโซ่อุปทานของจีนทั้งหมด โดยการกระจายการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะยังคงมีสถานะอยู่ในจีน
กลยุทธ์ จีน+1 นี้ได้กระตุ้นให้มีการลงทุนมากขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเศรษฐกิจอาเซียนของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม เพิ่มขึ้นเป็น 236,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีที่ 190,000 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่มาจากสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้รายงานว่า มี “4 ประเทศ” ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์มากที่สุด จากปรากฏการณ์บริษัทต่างชาติกระจายฐานการผลิตออกจากจีน ดังนี้
(1)เวียดนาม :
เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับ Apple เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐนี้ ต้องการกระจายการประกอบผลิตภัณฑ์ออกจากจีน จากกรณีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งใช้มาตรการโควิด-19 อย่างเข้มงวด จนทำให้การผลิตชิ้นส่วนของ iPhone ในจีนเกิดความล่าช้า
หยิงหลัน ถาน (Yinglan Tan) ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัท Insignia Ventures Partners กล่าวว่า “ความใกล้ชิดระหว่างเวียดนามกับจีน ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมายาวนานสำหรับการเป็นห่วงโซ่อุปทานใหม่ นอกจากจีน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก”
ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศนี้ยังเป็นศูนย์กลางวิจัย พัฒนา ผลิตและส่งออกที่สำคัญสำหรับค่ายสมาร์ทโฟน Samsung ของเกาหลีใต้ด้วย
นอกจากนี้ ไค เว่ย อัง (Kai Wei Ang) นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคอาเซียนจาก BofA Securities ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ “Squawk Box Asia” ของช่องสำนักข่าว CNBC เมื่อต้นเดือนนี้ว่า “เวียดนามมีข้อได้เปรียบเพิ่มเติม นั่นคือ ต้นทุนแรงงานที่แข่งขันได้ และตลาดเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่น ๆ มากมาย ทำให้การส่งออกไปยังตลาดอื่น เช่น สหภาพยุโรป ง่ายขึ้นมาก”
(2)มาเลเซีย :
แต่เดิม มาเลเซียตั้งเป้าหมายประเทศตัวเองเป็น “ศูนย์กลางด้านชิปแห่งอาเซียน” ซึ่งมีบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ Intel, GlobalFoundries และ Infineon เข้ามาตั้งโรงงาน และขยายการดำเนินงานเพิ่มในมาเลเซียเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จุดแข็งของมาเลเซียที่เห็นได้ชัด คือ เนื่องด้วยเป็นประเทศที่รับจ้างประกอบชิปมาอย่างยาวนาน แรงงานจึงมีทักษะด้านการบรรจุภัณฑ์ ประกอบ และทดสอบชิป รวมถึงมีต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างต่ำ
ไค เว่ย อังกล่าวว่า “ไม่ใช่แค่เรื่องเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซียที่กำลังบูมเท่านั้น คุณยังเห็นการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์จำนวนมากที่เข้ามา โดยเฉพาะในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และอาจจะมีการลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น มาเลเซียจึงได้รับกระแสการลงทุนที่หลากหลายในประเทศ”
(3)อินโดนีเซีย :
เนื่องด้วยประเทศแห่งนี้มีทรัพยากรทองแดง นิกเกิล โคบอลต์ และบอกไซต์ อันเป็นแร่ธาตุสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งอินโดนีเซียกำลังมุ่งหวังที่จะกลายเป็น “ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร” แม้ว่าในขณะนี้อาจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการนำเสนอภาษีอัตราพิเศษ เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งฐานการผลิต
อันเดอร์ส ซี. โจฮันสัน (Anders C. Johansson) ผู้อำนวยการ Stockholm China Economic Research Institute มองว่า “กลยุทธ์ ‘จีน+1’ ไม่ได้มีเฉพาะบริษัทต่างชาติในจีนเท่านั้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และพัฒนาการทางการค้าระหว่างประเทศ ยังผลักดันให้ผู้ผลิตสัญชาติจีนกระจายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน” โดยบริษัท BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน มีแผนที่จะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซียในปี 2569
(4)สิงคโปร์ :
รายงาน ASEAN Briefing ระบุว่า สิงคโปร์เป็น “จุดหมายปลายทางชั้นนำ” สำหรับบริษัทที่ต้องการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค รวมถึงที่ต้องการขยายกิจการไปทั่วทั้งภูมิภาค
หยิงหลัน ถาน ให้ความเห็นว่า “สิงคโปร์กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับผู้ประกอบการบริษัทต่าง ๆ ในการตั้งสำนักงานใหญ่ระดับโลก โดยยังคงสามารถระดมทุนจากสหรัฐ และจ้างวิศวกรในจีนได้อีกด้วย”
ทั้งนี้ บริษัทจีนหลายแห่ง รวมถึง TikTok โซเชียลมีเดียชื่อดัง และ Shein ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่น ได้ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นคงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ
ส่วนกั๋ว-อี้ หลิม กล่าวว่า “สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการเงินที่น่าเชื่อถือ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบที่เพียบพร้อม ซึ่งได้ช่วยดึงดูดบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาฐานที่มั่นในเอเชีย ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 มิถุนายน 2567