จับกระแสเศรษฐกิจกลางปีมังกร
ผ่านพ้นไปครึ่งปีแล้วสำหรับปี 2567 ที่ถูกเรียกกันว่า "ปีมังกร" ไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 1.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่า "ตัวเลข" จะดีกว่านักวิเคราะห์คาดกันไว้ว่าจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่กระนั้นยังถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างไทย
ในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ? ทีดีอาร์ไอ ชวนจับกระแสเศรษฐกิจ กับ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ
ดร.กิริฎา มองว่า ไตรมาสต่อไปเศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่าไตรมาสหนึ่ง และภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีน่าจะโตได้ 2.5 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปี 2566
ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจโต มาจากการลงทุนของภาครัฐ ที่ “เม็ดเงิน” ลงสู่ระบบหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ประกาศไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น
นอกจากนี้การส่งออกแม้ว่า “หดตัว” ในไตรมาสแรกไป 0.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ ดร.กิริฎา คาดว่าน่าจะได้เห็นมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าปีที่แล้ว 1-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้การส่งออกไปยังตลาดหลักของไทย อย่างสหรัฐ ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในอาเซียนขยายตัวได้บ้าง อีกทั้งอุตสาหกรรมวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Cycle) กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ซึ่งจะช่วยเสริมภาพรวมของการส่งออกให้ดีขึ้นกว่าปี 2566 โดยการส่งออกใน 5 เดือนแรกของปีนี้ได้ขยายตัว 2.6 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ความท้าทาย-ความเสี่ยงครึ่งปีหลัง :
ดร.กิริฎา มองว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทั้งความไม่สงบในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีความไม่ลงรอยกันของ “2ยักษ์ใหญ่” ได้แก่ สหรัฐกับจีน
“สหรัฐกีดกันทางการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในระดับที่สูง อย่างรถ EV สหรัฐก็ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และไม่ใช่แค่สหรัฐเท่านั้น แต่ภาคีของสหรัฐ อย่างยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นก็พยายามจะกีดกันสินค้าจากจีน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจจีน ไม่สามารถที่จะฟื้นได้มากเท่าที่เราคาดเอาไว้ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจีนจะโตช้าหน่อย” ดร.กิริฎา ระบุ
เมื่อจีนไม่สามารถขายสินค้าให้กับตลาดเดิมที่เคยขายได้ จีนจึงหาตลาดอื่นเพื่อระบายสินค้าแทน แน่นอนว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่จะมีสินค้าของจีนหลั่งไหลเข้ามามาก
แต่กระนั้น ดร.กิริฎา เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเหมือนเหรียญสองด้าน คือเป็นทั้ง “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ของไทย
“ความเสี่ยง” คือ สินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดไทยในสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งสินค้าผลิตในไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาสินค้าที่ถูกกว่าได้ ขณะที่ “โอกาส” คือการนำวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนจากจีนมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าก็จะเกิดประโยชน์
เศรษฐกิจไทยโตน้อยสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน :
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเมื่อไปเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดียวกับไทย พบว่าเศรษฐกิจไทยโตน้อยที่สุด
“หลายคนบอกว่าเพราะเรามีรายได้ต่อหัวที่สูงกว่าอินโดนีเซีย ลาว หรือกัมพูชา เพราะฉะนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราอาจจะน้อยกว่าเขา เพราะฐานเราใหญ่กว่า แต่พอเราไปดูประเทศอื่น เช่น มาเลเซียซึ่งรายได้ต่อหัวมากกว่าไทยสองเท่า แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าไทย ในปีนี้คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะขยายตัวเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ของไทยขยายตัวได้ประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเรายังต้องทำอะไรอีกมาก เพื่อที่จะขยายมูลค่าเพิ่มของการผลิตของเรา”
ดร.กิริฎา ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโต นอกจากอานิสงส์เรื่องราคาพลังงานแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมไฮเทค และการผลิต Semiconductor ที่เป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน โดยพบว่าที่ผ่านมามีภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่นี้ไปลงทุนที่มาเลเซียค่อนข้างมาก ทั้ง Data Center และ Cloud Computing (การให้บริการพื้นที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ตลอดจนระบบต่าง ๆ ที่ช่วยในการจัดการข้อมูล) สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยยังพัฒนาสู้มาเลเซียไม่ได้
เดินหน้านโยบายอย่างไรให้ GDP ไทยสูงกว่าเดิม ?
ดร.กิริฎา ระบุว่า ควรปรับปรุงกฎระเบียบ ขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจ และการลงทุน ให้มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในระยะสั้น และไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้วิธีการนี้ คือสิงคโปร์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำธุรกิจได้ง่าย เพราะมีการลดขั้นตอนการขออนุญาตกับทางราชการ และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหากประเทศไทยทำเช่นนี้ได้ก็จะสามารถดึงดูดการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่หลายประเทศย้ายฐานการผลิตจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์
“ตอนนี้เป็นโอกาสของเราแล้วที่จะดึงดูดการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตกันในระดับโลกขนาดนี้ ซึ่งอาจจะ 50 ปีมีครั้ง ภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ บริษัทของไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือของสหรัฐอยากจะย้ายออกจากจีน หรือย้ายออกจากประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับเขา มาสู่ประเทศที่เป็นมิตร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเปิดรับทุกค่าย ทั้งค่ายอเมริกาและค่ายจีน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะดึงดูดเขามา ที่ง่ายสุดคือการมาปรับกฎระเบียบของเรา”
ขณะเดียวกันเรายังต้องเร่งพัฒนาทักษะของแรงงานในประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์กับการลงทุนใหม่ ๆ ที่เน้นทักษะการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งหุ่นยนต์ และระบบ Automation
“ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่ทำงานแล้ว จะต้องกลับมาคิดในเรื่องของการยกระดับ และเพิ่มทักษะของตัวเอง ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตามต้องมีการอัพเดตตลอดเวลาเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าสำคัญมากเพราะจะทำให้คนไทยสามารถทำงานกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ได้” ดร.กิริฎา ระบุ
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล และสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เร็วและแรงให้มากขึ้น เพื่อดึงดูด “Digital Nomad” (ผู้ที่ทำงานออนไลน์และสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์) และ Data Center ที่เข้ามาในไทยแล้วหลายบริษัท
“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตไทยเร็วและครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว แต่เทคโนโลยีพัฒนาเร็ว อีก 2-3 ปีก็เป็น 6G ดังนั้นไทยต้องตามให้ทัน ต้องมีการลงทุนภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเองจะต้องเตรียมงบประมาณไว้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ พวกนี้ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นสถานที่ของธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้”
นอกจากนี้ยังมีประเด็น “พลังงาน” ที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับ “พลังงานสะอาด” มากขึ้น “นักลงทุนต่างขาติส่วนใหญ่จะถามว่ามีพลังงานสะอาดให้เขาไหม เพราะธุรกิจต้องลด Carbon Footprint และบริษัทใหญ่ มี Net Zero เป็นเป้าหมาย จึงต้องการพลังงานสะอาด เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและเร็วขึ้น ถ้าทำได้แน่นอนว่าบริษัทขนาดใหญ่ก็อยากจะมาลงทุน”
ดร.กิริฎา ย้ำว่า การพัฒนาและเดินหน้านโยบายเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้รายได้และความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 26 มิถุนายน 2567