เตือนรับมือ "วิกฤติฐานราก" หนักกว่า "ต้มยำกุ้ง" ปี40
ย้อนรอย 27 ปีวิกฤิตต้มยำกุ้ง "ศุภวุฒิ" ชี้ปัจจุบันเป็นวิกฤติคนจนแก้ยาก "บรรยง" ห่วงความเหลื่อมล้ำลามเกิดวิกฤติสังคม "วิรไท" ระบุปัจจุบันน่าห่วงกว่าต้มยำกุ้ง “กฤษณ์” ระบุไทยเผชิญปัญหาโตต่ำ ล้าหลัง “ประเสริฐ” ชี้ ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นวิกฤติแก้ยากกว่าต้มยำกุ้ง
วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ผ่านมา 27 ปี ยังสร้าง “แผลเป็น” และสร้างบทเรียนครั้งประวัติศาสตร์ให้กับ “เศรษฐกิจไทย” เพื่อไม่ให้เดินหลงกลับไปเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งอีกครั้ง
หากย้อนดูวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ก.ค.2540 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจนลามเป็นวิกฤติการเงินในที่สุด จากการที่ไทยมีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก การเปิดเสรีทางการเงิน การมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ทำให้ไทยถูกโจมตีค่าเงิน
หรือแม้แต่การลงทุนที่เกินตัวทำให้เกิดฟองสบู่ภาคอสังริมทรัพย์ หรือจากปัญหาของสถาบันการเงินที่ขาดความรัดกุมในการบริหารจนนำมาสู่การปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์จำนวนมาก 58 แห่ง
“กรุงเทพธุรกิจ” โดยรายการ Deep Talk ได้สัมภาษณ์ 5 บุคคลสำคัญทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงทั้งในวงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารสถาบันการเงินอันดับต้นๆของเมืองไทย ที่เป็นบุคคลสำคัญและอยู่ในสำคัญของปี 2540 ที่จะฉายภาพถึงวิกฤติปี 2540 และภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เล่าให้ถึง “วิกฤติปี 40” ว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้ ต่างกันอย่างกับ “ฟ้ากะดิน” หากเทียบกับ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งวิกฤติขณะนั้น เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เป็นปัญหาจากที่ไทยกู้หนี้ต่างประเทศมากเกินไป โดยเฉพาะคนรวย ดังนั้นวิกฤติปี 40 จึงเป็นวิกฤติของคนรวย ที่กระทบชาวบ้านด้วย แต่คนรวยลำบากรุนแรงที่สุด
ซึ่งหากดูในช่วงวิกฤติปี 40 ในประเทศไทยเอ็นพีแอลขึ้นไปเป็น 42% ส่วนใหญ่มาจากบริษัทขนาดใหญ่ จากปัญหางบดุล และสินทรัพย์ที่มีปัญหา จากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งครั้งนั้นเป็นปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ แบงก์ต้องเพิ่มทุน
วิกฤติปัจจุบันคือวิกฤติของคนจน :
สำหรับวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ถือว่าสวนทางกับเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่คนที่ลำบากที่สุดคือ “ชาวบ้าน” ไม่ใช่คนรวย รอบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาหนี้ของคนรวย หรือหนี้ต่างประเทศ แต่เป็นวิกฤติของคนจนที่ไม่ได้รวย เป็นหนี้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ดังนั้นอาจจะเรียกว่าวิกฤติ แต่เป็นวิกฤติที่มาจากการป่วยที่ค่อยๆป่วยไปเรื่อยๆช้าๆต่างกับรอบวิกฤติปี 2540 ที่เป็นการป่วยแบบเฉียบพลัน
ปัจจุบัน ประชาชนกำลังมีรายได้เสื่อมถอยลงไป แม้ครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ครั้งนี้คือวิกฤติคนจน ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ เห็นได้จากราคารถยนต์ที่ลดลงไปกว่า 30% ราคาบ้านไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทุกอย่างกำลังเสื่อมถอย
ดังนั้นแล้วสุดท้ายหวังว่า ระยะสั้น เศรษฐกิจโลกฟื้นเพราะการพึ่งการฟื้นตัวจากภายในคงทำได้ยากในต่างประเทศวิธีที่จะทำให้หนี้ของคนลดลง คือการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
“ผมเชื่อว่าเราจะไม่ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง รอบที่แล้วบริษัทใหญ่ๆมีปัญหาไม่กี่บริษัท ไม่กี่สิบราย ซึ่งการจัดการปัญหามันง่ายกว่าปัจจุบันที่เผชิญปัญหาเกือบกว่า 30 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เข้าไปจัดการได้ยากมาก”
ห่วงไทยความเหลื่อมล้ำสูงลามเป็นวิกฤติสังคม :
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าต่างกับเศรษฐกิจตอนต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตปีละ 8-9% ต่อเนื่องกันมา 8 ปี ซึ่งโตจาก เงินไหลเข้าประเทศค่อนข้างมาก เพราะเราดำเนินนโยบายการเงินแบบเปิด ที่เอื้อให้เงินไหลเข้าเสรี ขณะเดียวยังมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เงินต้นทุนต่ำกว่าจากนอกประเทศ ไหลเข้าสู่ประเทศอย่างมาก และนำไปลงทุน ที่ไม่ก่อให้เกิดผลที่คุ้มค่า สุดท้ายก็เริ่มเกิดฟองสบู่
ทั้งนี้หากถามว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันจะซ้ำรอยวิกฤติปี 40 หรือไม่ เชื่อว่า ไม่มีทางที่จะเกิดอย่างนั้น แต่การเติบโตจะช้า การไม่มีประสิทธิภาพเป็นต้นทุนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้กระบวนจัดสรรทรัพยากรในระบบตลาดเงินมีต้นทุนที่สูงมาก
ปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่จะทำให้เกิดวิกฤติสังคม ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจ ไม่เหมือนปีต้มยำกุ้ง แต่มันจะมาจากสังคม
ซึ่งมันจะมาจากความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทรัพย์สิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จึงสำคัญมาก และในเวลาเศรษฐกิจโตช้า ผลกระทบคือทำให้คนที่มีโอกาสน้อย จะยิ่งโตช้า หรือติดลบด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงเกิดแรงกดดันทางด้านสังคม ที่เป็นปัญหาที่กังวลมากที่สุด
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆที่ไม่ควรทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจและสภาวะเศรษฐกิจต้องตกไปอยู่ในสภาวะแบบนั้นอีก ที่การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ทำให้ความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคมีข้อจำกัดมาก รวมถึงภาคสถาบันการเงินแข็งขันกันสูงมากภายใต้บริษัทเงินทุนเกือบ 100แห่งที่สร้างความเสี่ยงเกินควร
แต่ปัจจุบัน การบริหารจัดการการกำกับดูแลของสถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความเข้มแข็งขึ้น ทำให้เราสามารถผ่านวิกฤติหลายอย่างได้เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 ที่เรียกว่าเป็นวิกฤติการเงินโลก หรือวิกฤติโควิด ที่สามารถผ่านมาได้
เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเทียบปี 40แย่ลง
แต่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน หากเทียบกับวิกฤติิปี 40เขามองว่า “แย่ลง” หากเทียบกับความท้าทายที่จะต้องเผชิญในอนาคต นอกจากหนี้ภาครัฐอยู่ระดับสูง ในระดับครัวเรือนเองก็มีปัญหา ที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง คนไทยเป็นหนี้เร็ว หนี้เสียค่อนข้างมาก มีเงินออมต่ำ แสดงว่าภูมิคุ้มกันในระดับครัวเรือนก็อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ที่ถือเป็นแรงกระแทกต่อฐานะการเงินของทุกครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมันหยุดชะงัก ฐานะการเงินของครัวเรือนก็ถูกกระแทกไปมาก ดังนั้นหากเราไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคต ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะมากขึ้นอย่างชัดเจน
ภาคการเงินไทยแข็งแกร่งต่างกับปี40 :
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าต่างกับวิกฤติปี 40 หลายด้าน ปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ที่ธปท.ถือเป็นเสาหลักในการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินไทย และเป็นองคาพยพที่ทำให้ระบบการเงินเข้มแข็ง ต่างกับ20กว่าปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ปัจจุบันมีกลไกในการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งการตั้งสำรอง เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีความรัดกุมค่อนข้างมาก
ซึ่งต่างกับวิกฤติปี 40 ที่เป็นวิกฤติจากการเติบโตไม่หยุดหย่อนของเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดฟองสบู่แตก จากการมองภาพการลงทุนดีเกินไป การกู้เงินต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก เพราะหวังรวยขึ้น แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาในด้านการเติบโตมาก แต่การเติบโตเริ่มห่าง และล้าหลังหากเทียบกับเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก
“เชื่อว่าเราจะไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี40 เราไม่ได้อยู่ในโหมดของการเติบโตสูง แต่อยู่ในโจทย์ที่ทำอย่างไรให้เรากลับมามีศักยภาพในการเติบโต ที่ห่วงวันนี้คือ การเติบโตในอนาคตที่มีความท้าทายมากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องทำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการทับซ้อนในหลายมิติ”
วิกฤติปี67กระทบฐานรากต่างจาก‘ต้มยำกุ้ง’ :
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 ปัญหาเศรษฐกิจต่างจากปี 2540 เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารมีกำไร
ขณะที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะตลาดกลางล่าง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่มีงานทำ เงินเดือนไม่ขึ้น ที่สำคัญใช้เงินออมไปหมดแล้ว มีการกู้หนี้นอกระบบ
อีกปัญหาสำคัญ “ดอกเบี้ยสูง” ขณะที่กำลังซื้อตลาดกลางลงล่างของไทยไม่มีเงินออม ทั้งมีหนี้นอกระบบจำนวนมาก และแบกภาระดอกเบี้ยไม่ไหว ค่าผ่อนบ้านขึ้นมาเกือบเท่าตัวจากปกติดอกเบี้ย 3% ขึ้นมาเป็น 6%
ส่วนยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) สูงถึง 70% เป็นตัวเลขไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลา 30 ปีที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์
“วิกฤติครั้งนี้แก้ยากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะเป็นภาคประชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงคนไทยที่ได้รับผลกระทบในภาวะเช่นนี้ เกิดคนไร้บ้าน (homeless) ทั่วโลก ส่วนในไทยกลุ่มคนอยู่ในตลาดกลาง-ล่างมีหนี้นอกระบบไม่สามารถซื้อบ้านใหม่ได้ทำให้ดีมานด์ดิ่งลง"
ขณะที่ ราคาที่ดิน ค่าครองชีพสูงขึ้น ซัพพลายแพงขึ้นจากราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง วิ่งสูงขึ้นเป็น “K-Shaped” จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ถูกปฏิเสธสินเชื่อถึง 70% จากปกติอยู่ที่ระดับ 20-30%
หากสะท้อนจากข้อมูลไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่าเป็นครั้งแรกที่ตลาดรวม “ติดลบ” ทุกสินค้าและทุกระดับราคายกเว้นบ้านราคาสูงกว่า 50 ล้านบาท และตัวเลขในฝั่งของยอดขายที่เป็นตัวนำไปสู่การโอน ถ้ายอดขายขายติดลบ ยอดโอนจะติดลบตามไปด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 กรกฏาคม 2567