สองประเด็นความมั่นคงใน ฟุตบอลยูโร 2024
กีฬาไม่ใช่เป็นเพียงความบันเทิงหรือสอนให้มีน้ำใจสามัคคีเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของการต่อสู้ อย่างน้อยก็ในเชิงสัญลักษณ์ ทดแทนสงครามที่ตายจริงเจ็บจริง ยิ่งการแข่งขันใหญ่โตเข้าถึงคนในวงกว้างมากเท่าไหร่ ประเด็นความขัดแย้งยิ่งเข้มข้น ฟุตบอลยูโร 2024 ก็ไม่ยกเว้น
เกมดวลแข้งระหว่างทีมชาติในยุโรปบนผืนสนามหญ้าก็ว่ากันที่ผลการแข่งขัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบขอบสนามและบนอัฒจันทร์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อาจจะน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ เมื่อมองว่าเป็นการชี้ถึงประเด็นความมั่นคงที่ไม่รู้จะแก้ไขได้เมื่อไร
ประเด็นหนึ่งนั้นคือ ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยุโรป อันสืบเนื่องจากการ “รุก”จากจีน อีกประเด็นหนึ่งคือปัญหาความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับยูโกสลาเวียที่สิ้นสลายไปแล้ว
ระหว่างถ่ายทอดสดเกมแต่ละคู่ ป้ายโฆษณาดิจิทัลในสนามจะทำหน้าที่เตะตาผู้ชม ไม่น้อยไปกว่านักบอลที่กำลังเผดียงแข้ง ยูฟ่าและเยอรมนีเจ้าภาพให้สิทธิสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จีนหลายชิ้นเป็น Official Sponsor
รถยนต์ไฟฟ้า BYD จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์สูงกว่าค่ายยนตรกรรมยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมันที่ครองตลอดมานาน เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า Hisense ที่ชัยเหนือกว่าสินค้าเยอรมันที่โลกยกย่อง
ถ้ามองด้วยธรรมของนายทุน บริษัทจีนไม่ผิดอะไร ประมูลลิขสิทธิ์ได้สูงกว่าเจ้าอื่นก็ควรได้ไป แต่ถ้าเอาประเด็นอื่น ๆ มาประกอบกัน บวกด้วยแนวคิดยุโรปนิยมก็จะพบว่ามีประเด็นถกเถียงอย่างมาก
จีนที่กำลังต้องการฟื้นตัวจากการบาดเจ็บจากพิษโควิดและสงครามการค้ากับสหรัฐ ฯ เลือกที่จะใช้จุดแข็งใหม่ของตน นั่นคือความไม่เป็นรองในสินค้าเทคโนโลยีสูง บุกตลาดที่เคยเชื่อกันว่ามีกำลังซื้อสูงและเปิดกว้างแห่งหนึ่งของโลก
รถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังดัมพ์ราคาอย่างหนักอาจถูกใจผู้บริโภคยุโรปที่กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงแต่มีจิตใจรักษ์โลก ขณะที่ Alipay ก็อาจตอบโจทย์คนยุโรปรุ่นใหม่ที่ต้องการอยู่ในสังคมไร้เงินสดอย่างปลอดภัยจากสแกมเมอร์ได้
กระนั้นก็ตาม กลยุทธ์จีนก็ทำให้ยุโรปหวั่นใจ คนยุโรปจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าราคาที่ถูกอย่างเหลือเชื่ออาจมาจากการทุ่มตลาดโดยรัฐบาลอำนาจรวมศูนย์ หรือแรงงานจากซินเจียง ระบบการค้าเสรีอาจถูกใจผู้บริโภคในระยะสั้นแต่เป็นผลร้ายต่อสินค้ายุโรปทั้งระบบโดยรวมในระยะยาว เมื่อต้องเจ๊งให้กับสินค้าจีน หากไม่มีการปกป้อง
แต่การปกป้องด้วยกำแพงภาษีของยุโรป กลับทำให้สินค้าส่งออกของยุโรปเองต้องเผชิญกับปัญหาหากโดนจีนตอบโต้คืน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าสินค้ายุโรปไม่มีความจำเป็นต่อจีนเลย แทบไม่มีอะไรที่จีนจะทำเองไม่ได้
ยกเว้นแบรนด์ของความหรูหราที่สืบทอดมรดกจากประวัติศาสตร์ เช่น รถยนต์ นาฬิกา น้ำหอม กระเป๋าราคาแพง ที่คนจีนซื้อกันอย่างฟุ่มเฟือย รายได้จากการส่งออกของพวกนี้แหล่ะที่ทำเงินทำทองให้กับยุโรปอย่างแท้จริง แต่หากราคาดีดสูงเกินไปมากหรือโดนการรณรงค์ต่อต้านอย่างชาตินิยมก็ไม่แน่เหมือนกันว่ายอดขายจะหล่นฮวบไหม
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า การขึ้นกำแพงภาษีในยุโรปเล่นงานสินค้าราคาถูกจากจีน จึงได้รับกระแสไม่เห็นด้วยจากพ่อค้าสินค้าชาวยุโรปเอง
นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของความเกลียดชังทางเชื้อชาติก็บุกรุกพื้นที่สนามบอลด้วย เซอร์เบีย ผู้สืบมรดกจากยูโกสลาเวีย ลงสนามในบอลยูโรอย่างไม่มีใครคบ พวกเขามีเพื่อนน้อยมาก ถูกมองเมินจากสหภาพยุโรปที่ยังไม่พิจารณาคำขอเข้าร่วม
เพราะกังขาในความใกล้ชิดกับรัสเซียและอดีต ที่เคยทำให้ทหารยุโรปต้องมาลงแรงรักษาสันติภาพในโครเอเชีย บอสเนีย และโคโซโวช่วงทศวรรษ 1990 ประเด็นหลังนี่เองที่ทำให้ทุกวันนี้เซอร์เบียยังมองหน้าเพื่อนร่วมภูมิภาคบอลข่านไม่ติด
ในเกมยูโรคราวนี้ทีมจากเบลเกรด ขู่จะวอล์กเอาต์จากการแข่งขัน หากยูฟ่าไม่ลงโทษโครเอเชียกับอัลบาเนีย ที่แข่งกันไปก่นด่าเซอร์เบียไป เพราะทั้งคนโครตส์และคนอัลบาเนียน (เชื้อสายเดียวกับคนโคโซโว) เจ็บช้ำน้ำใจจากกองกำลังเซิร์บเมื่อ 30 ปีก่อนกันมาก ความแค้นนี้ไม่เคยลืมเลือน
สงครามแบ่งแยกยูโกสลาเวียในวันนั้น ทำขึ้นเพราะกองกำลังเซิร์บไม่ต้องการให้รัฐของยูโกสลาเวียแยกตัวเป็นเอกราช สโลวีเนียที่อยู่ปลายสุดกระทบกระทั่งกันนิดหน่อย แต่โครเอเชียรบกันรุนแรงมาก เช่นเดียวกับบอสเนีย แม้เมื่อยูโกสลาเวียล่มสลายเหลือแต่เซอร์เบียแล้ว ชาติตะวันตกก็ยังพรากโคโซโวไปเสียจากเซอร์เบียอีก นี่จึงทำให้กระแสชาตินิยมเซิร์บต่อต้านตะวันตกก็ยังคงรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน
ตราบใดที่ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ อนาคตของเซอร์เบียก็ยังคงไม่ใช่ยุโรปตะวันตกเหมือนประเทศสลาฟอื่น ๆ แต่คงต้องตกอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือพึ่งพารัสเซียกับจีน ซึ่งอนาคตแบบนี้คนรุ่นใหม่ของเซอร์เบียจำนวนไม่น้อยก็ไม่อยากได้เหมือนกัน
ไม่ว่าโลกจะหมุนไปในทางที่เจริญทางเทคโนโลยีมากขึ้น หรือมีความสุขสบายปลอดภัยมากขึ้นก็ตาม อคติ ความหวาดระแวงและบาดแผลในใจก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยากที่จะไว้ใจกันได้อย่างสมบูรณ์ การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ที่เยอรมนีเป็นเพียงเวทีหนึ่ง ซึ่งสะท้อนภาพนี้ออกมาให้โลกเห็น พร้อมกับคำถามที่ว่า แล้วเราจะคลี่คลายประเด็นไปในทิศทางใดและอย่างไร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 กรกฏาคม 2567