มาตรการกระตุ้นเริ่มออกผล การผลิตจีนเริ่มฟื้น ทำการผลิตทั่วเอเชียขยับตาม
มาตรการกระตุ้นเริ่มออกผล การผลิตจีนในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 5 เดือน ทำการผลิตทั่วเอเชียขยับตาม แม้จะยังมีความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ก็ตาม
วันที่ 2 ธันวาคม 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า กิจกรรมภาคการผลิตเดือนพฤศจิกายนในเอเชียเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากจีนมีการผลิตฟื้นตัว โดยได้รับอานิสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน และมีการส่งออกที่เร่งตัวขึ้น แม้จะมีการผลิตที่อ่อนแอในภูมิภาคอื่น ๆ จะบ่งชี้ถึงความท้าทายบางประการ
ความเสี่ยงต่อการค้าโลกที่จะเกิดขึ้นหลังโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สอง ได้แผ่กระจายปกคลุมไปทั่วภาคการผลิต โดยสังเกตได้จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2024 ซึ่งฉายภาพที่หลากหลายของเศรษฐกิจในประเทศเอเชียที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่จัดทำโดยไฉซิน (Caixin) แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมภาคการผลิตของจีนในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวมากสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับผลสำรวจของรัฐบาลที่เผยแพร่ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ว่ามีการขยายตัวในระดับปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่าการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล ส่งผลต่อประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ช่วยให้ภาคการผลิตของกลุ่มประเทศเอเชียอื่น ๆ อย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน มีกิจกรรมการผลิตฟื้นตัวเช่นกัน
สิง เจ้าเผิง (Xing Zhaopeng) นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดจีนของออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีส่วนผลักดันภาคการส่งออกอย่างมาก โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (New Export Order) จากดัชนีของทางการและดัชนีของไฉซินชี้ว่า ผู้ซื้อเร่งคำสั่งซื้อมากขึ้น แต่อุปสงค์ภายในจีนยังคงอ่อนแอ เนื่องจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ไม่ใช่ภาคการผลิต หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Nonmanufacturing PMI) อยู่ที่ 50
ผู้ส่งออกชาวจีนหลายรายกำลังดิ้นรนเพื่อนำสินค้าของตนไปยังตลาดสำคัญก่อนที่จะมีการจัดเก็บภาษีจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงหลายประการที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญในปัจจุบัน
รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุดในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อหยุดยั้งการชะลอตัวของการผลิตและการใช้จ่าย แต่บรรดานักวิเคราะห์ยังคงมองว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นมากขึ้นอีก เพื่อค้ำจุนให้มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้น เริ่มมีผลต่อการใช้จ่ายภาคการค้าปลีกและเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์บ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม การค้าโลกกำลังจะมีภัยคุกคามครั้งใหม่เกิดขึ้น จากการเสนอขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 20 มกราคม 2025 ซึ่งทรัมป์สัญญาว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐ โดยเฉพาะจีน เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและการจ้างงานของสหรัฐให้ฟื้นตัว
ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทรัมป์ยังกล่าวอีกด้วยว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% เพื่อให้รัฐบาลจีนดำเนินการหยุดยั้งการค้าสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเฟนทานิลมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยขู่ว่าจะบังคับใช้ภาษีแบบครอบคลุม 60% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด
ส่วนสถานการณ์ภาคการผลิตในญี่ปุ่นกลับเลวร้ายลง โดยมีกิจกรรมภาคการผลิตลดลงมากสุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากอุปทานที่อ่อนแอทำให้โรงงานต่าง ๆ ต้องลดการผลิตลง แต่ถูกชดเชยด้วยรายจ่ายการลงทุน (CAPEX) ที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสสาม
กิจกรรมภาคการผลิตของอินเดียยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อย จากแรงกดดันด้านราคา ข้อมูลอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 พฤศจิกายนแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสสาม มีการขยายตัวในอัตราที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้มาก เนื่องจากการผลิตและการบริโภคมีการเติบโตชะลอตัวลง
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิจกรรมภาคการผลิตในอินโดนีเซียและมาเลเซียยังคงลดลง ส่วนไทยและเวียดนามก็มีการขยายตัวที่ชะลอตัวลง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 ธันวาคม 2567