หอการค้าไทย ชี้ FTA ไทย-EFTA เปิดโอกาสทางการค้า-แข่งขันไทย
หอการค้าไทย ชี้ความสำเร็จ ในการเจรจา FTA กับ EFTA ของกระทรวงพาณิชย์ เปิดโอกาส ทางการค้า ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้คาดว่าการลงนามความตกลงจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2568 พร้อมดันไทยเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-EU
รายงานข่าวจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ หอการค้าไทยแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ ในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดยความตกลงนี้ถือเป็น FTA ฉบับแรกระหว่างไทยและยุโรป ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเปิดโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย
โดย FTA ไทย-EFTA ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 หลังการเจรจาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี โดยครอบคลุม 15 ประเด็นสำคัญ เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัย และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ความตกลงนี้จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าหลัก เช่น อัญมณี อาหารทะเล และเครื่องจักร ซึ่งมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลก
ส่งผลให้หลายบริษัทข้ามชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคที่มั่นคง FTA ฉบับนี้จึงไม่เพียงเปิดโอกาส ทางการค้า แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าการลงนามความตกลงจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2568
ปัจจุบัน ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ สะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการขยายตลาดการค้าและสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอร่วมชื่นชม ความสำเร็จครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่า FTA กับ EFTA จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทย พร้อมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระดับโลก
ข้อมูลล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 การค้ารวมระหว่างไทยกับ EFTA คิดเป็น 2.03% ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,787.97 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้า 6,505.56 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเติบโตขึ้น 23.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณี อาหารทะเล ข้าว และเครื่องจักร ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย สัตว์น้ำสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเชื่อว่า ความตกลงครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในอนาคต และมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยในการผลักดัน FTA ไทย-EU ให้สำเร็จภายในปี 2568-2569 อย่างแน่นอน
ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ EU ในช่วง ม.ค.-ต.ค. 67 ขยายตัวร้อยละ 3.42 จากช่วงเดียวกันของปี’66 โดยไทยส่งออกไป EU ขยายตัวร้อยละ 9.28 และไทยนำเข้าจาก EU ลดลงร้อยละ 2.99 โดยคาดการณ์ว่า หากไทยสามารถเจรจากับ EU ได้สำเร็จจะทำให้การค้าระหว่างไทยกับ EU ขยายตัวในระยะยาว โดย GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 1.28% มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 2.83% และการนำเข้าขยายตัว 2.81%
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจา FTA ไทย-EFTA สำเร็จลุล่วง และเชื่อมั่นว่า FTA ครั้งนี้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 ธันวาคม 2567