8 ประเทศยืนยันเข้าร่วมงาน THECA 2024 กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์-PCB พร้อมลงทุนไทย
บีโอไอเผย 8 ประเทศยืนยันเข้าร่วมงาน THECA 2024 จับมือหน่วยงานพันธมมิตร ร่วมกันดันไทยเป็นฐานผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก หลังขยายขอบเขตส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม PCB ครอบคลุมทั้ง Supply Chain สร้างงานสูง 80,000 ตำแหน่ง เร่งจัดตั้งศูนย์แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไทย
วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่มาที่ไทย ด้วยศักยภาพพร้อมทุกด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรทักษะสูง และห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายของการลงทุน
และที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 535,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2566 มีมูลค่าคำขอสูงถึง 334,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 40% ของคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด
หากพิจารณาเฉพาะกลุ่ม PCB และ PCBA จะเห็นว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 15,600 ล้านบาท ในปี 2564 และ 15,900 ล้านบาท ในปี 2565 เพิ่มเป็น 100,860 ล้านบาท ในปี 2566 และยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริม PCB และ PCBA จำนวน 27 โครงการ มูลค่ารวม 36,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
“นี่จึงเป็นช่วงสำคัญของการสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง PCB และ PCBA ในประเทศไทยให้เติบโต บีโอไอจึงได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม PCB แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้ง Supply Chain รวมถึงการผนึกกำลังกับภาคเอกชน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต PCB เหล่านี้ด้วย”
และในวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2567 บีโอไอ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง เตรียมจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย (Thailand Electronics Circuit Asia : THECA) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับการพบปะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในอุตสาหกรรม PCB เกิดการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการและการเจรจาต่อยอดธุรกิจ จะนำไปสู่การซื้อขายชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิตและบริการ รวมถึงการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติ โดยจัดให้มี Business Matching คาดจะจับคู่กว่า 1,000 คู่ และมีมูลค่าซื้อขาย 20,000 ล้านบาท
โดยงานนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรม PCB ไทย รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องการใช้ PCB ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
นายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย กล่าวว่า การได้รับสนับสนุนจากบีโอไอ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วโลก ปัจจุบันแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 4%
หากมีการเปิดโรงงานจากผู้ลงทุนในโครงการที่ได้รับบีโอไอเพิ่มอีก 50 โรงงาน จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของไทยโตได้ถึง 10% เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลดีหลายด้านต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างอาชีพและการจ้างงานภายในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น 50,000-80,000 ตำแหน่งงาน
สำหรับตลาด PCB ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท (86.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2026 โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.3% HDI PCBs มีอัตราการเติบโตสูงถึง 11.1% เนื่องจากมีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง และน้ำหนักเบา รวมทั้ง Flexible PCBs ก็กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสินค้าเทคโนโลยีสวมใส่และอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยคาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 5.3 แสนล้านบาท (15.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2026
นายแคนิส ชุง นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง กล่าวว่า ผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB และ PCBA) ทั่วโลก ให้ความสนใจและเชื่อมั่นในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก PCB และ PCBA เป็นส่วนสำคัญสำหรับวัสดุพื้นฐานและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งเป็นแกนหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่กำหนดอนาคตของโลก ขณะนี้มีประเทศยืนยันเข้าร่วมจัดงานแล้ว ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์แผ่นวงจรอิเล็กทรอกนิกส์ไทย (Thailand Electronics Circuit Center) เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา สร้างโซ่อุปทานในประเทศ ผลิตต้นแบบแผงวงจรพิมพ์ พัฒนาบุคลากรและพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 12 กรกฏาคม 2567