IPEF คืออะไร และไทยได้อะไรจากกรอบ IPEF | World Wide View
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ อินโด – แปซิฟิกของสหรัฐ การเข้าร่วม IPEF ของไทย เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและภาคเอกชนไทย
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ Indo-Pacific Strategy หรือยุทธศาสตร์ อินโด – แปซิฟิกของสหรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกให้เสรี เปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง และพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ โดย IPEF ประกอบด้วยความร่วมมือ 4 เสา (pillar) ได้แก่ (1) การค้า (2) ห่วงโซ่อุปทาน (3) พลังงานสะอาดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และโครงสร้างพื้นฐาน และ (4) ภาษีและการต่อต้านการทุจริต
การประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ที่สิงคโปร์ เป็นโอกาสสำคัญที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมลงนามความตกลง 3 ฉบับ ซึ่งไทยและประเทศหุ้นส่วน IPEF รวม 14 ประเทศ ได้ร่วมกันเจรจามาตลอดช่วงเวลาประมาณหนึ่งปีครึ่ง ได้แก่
(1) ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pillar III: Clean Economy) ซึ่งกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการส่งเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(2) ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Pillar IV: Fair Economy) ซึ่งครอบคลุมแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการต่อต้านการทุจริตและความร่วมมือด้านการจัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน และ
(3) ความตกลง IPEF for Prosperity เพื่อจัดตั้งกลไกกำกับดูแลการขับเคลื่อน IPEF ในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ย. 2566 ไทยได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Pillar II: Supply Chain) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในส่วนสาขาและสินค้าที่สำคัญ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ การส่งเสริมการลงทุน การรับมือกับวิกฤติ และการส่งเสริมทักษะและสิทธิแรงงาน โดยไทยได้ยื่นสัตยาบันสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงเมื่อเดือน พ.ค. 2567 และความตกลงจะมีผลใช้บังคับกับไทยในวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
การเข้าร่วม IPEF ของไทยเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะถือเป็นการเสริมสร้างมาตรฐานเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางเศรษฐกิจในบริบทที่เป็นประเด็นมาตรฐานในด้านต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริต ความโปร่งใส สิทธิแรงงาน ซึ่งจะสามารถช่วยส่งเสริมโอกาสด้านการลงทุนสำหรับประเทศไทยในบริบทที่นักลงทุนพยายามกระจายความเสี่ยง แสวงหาตลาดและแหล่งลงทุนใหม่ อีกทั้งปรับยุทธศาสตร์การลงทุนโดยการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้ประเทศและสร้างงานเพิ่มรายได้ของประชาชน
ในเวทีระหว่างประเทศ การเข้าร่วม IPEF ยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ อาทิ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) รวมทั้งจะช่วยเตรียมความพร้อมของไทยในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือที่มีมาตรฐานสูงในอนาคต เช่น OECD คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force : FATF) รวมไปถึงการจัดทำความตกลงการค้าเสรีมาตรฐานสูง เช่น FTA ไทย-อียู นอกจากนี้ ยังช่วยเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 กรกฏาคม 2567