สรุปการพัฒนาเขตเศรษฐกิจของเขต YRD ในไตรมาสแรกของปี 2567
YRD มีอัตราการขยายตัว GDP ที่ร้อยละ 5.0 - 6.2 ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่ (เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง และอานฮุย) มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกําลังขับเคลื่อนสําคัญในการพัฒนา โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ใน YRD ยังคงเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ปริมาณการผลิตรถยนต์ของเขต YRD ในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 ติด 10 อันดับแรกของจีน ทางด้านการลงทุน YRD มีการลงทุนในทรัพย์สินถาวรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นสําคัญ
เขต YRD นับว่าเป็นพื้นที่สําคัญในด้านการค้ากับต่างประเทศ โดยการค้าระหว่างประเทศ อยู่ที่ 5.24 แสนล้าน USD (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4) คิดเป็นร้อยละ 36.6 ของการค้าระหว่างประเทศของจีน (1.43 ล้านล้าน USD) ซึ่ง YRD เป็นพื้นที่ที่นําเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากที่สุดในจีน โดยนําเข้าจากอาเซียนมากที่สุด ตามด้วย EU และญี่ปุ่น
การค้าไทยกับ YRD อยู่ที่ 1.16 หมื่นล้าน USD ลดลงร้อยละ 2.8 คิดเป็นร้อยละ 38.6 ของการค้า ไทย - จีน ทั้งนี้ YRD นําเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดในจีน โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ YRD นําเข้าจากไทย ได้แก่ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ โพลีเมอร์ของเอทีลินในลักษณะขั้นปฐม ยางสังเคราะห์ และเศษทองแดง และ สินค้า 5 อันดับแรกที่ YRD ส่งออกไปไทย ได้แก่ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องโทรศัพท์เครือข่ายเซลลูลาร์หรือเครือข่ายไร้สายและอุปกรณ์ หม้อแปลงไฟฟ้าและตัวเหนี่ยวนํา ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์
ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่ในเขต YRD ยังคงมีความแข็งแกร่งในด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่และยังคงมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย (1) เซี่ยงไฮ้ เน้น 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ AI เซมิคอนดักเตอร์ และ ยาชีวภาพ (2) เจียงซู ยังคงเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตชั้นนําของจีน และมีสัดส่วนอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่คิดเป็นร้อยละ 70 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด (3) เจ้อเจียง มุ่งกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรม Al (4) อานฮุย มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์
ที่มา globthailand
วันที่ 30 กรกฏาคม 2567