ก้าวสู่สัมพันธ์ไทย-อียูยุคใหม่ ไทยจะได้อะไร ภายใต้ PCA
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 ได้มีมติด้วยคะแนน 612 เสียง ให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Thailand – EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า PCA หลังใช้เวลาในการเจรจากันมายาวนานถึง 20 ปี นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ไทย – อียู ให้ก้าวไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่รอบด้านและเป็นพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดระหว่างกันมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ
อียูคือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด เป็นหนึ่งในสามของศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก มีการเดินทางระหว่างกันด้วยวีซ่าเชงเกน มีการใช้เงินยูโร มีสถาบันการศึกษาหรือแหล่งวิทยาการทันสมัย แต่อาจมีคนไทยไม่มากนักที่ทราบว่า อียูมีความสำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไทย ในด้านเศรษฐกิจ อียูเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในด้านการลงทุน อียูอยู่ในลำดับที่ 6 ดังนั้น การที่ไทยมีกรอบความตกลง PCA กับอียูจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – อียูในทุก ๆ มิติต่อไปในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเจรจาจัดทำ FTA ไทย – อียูด้วย
PCA เป็นความตกลงที่ไทยสามารถยกระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปคราวเดียวกันถึง 27 ประเทศ และยังเป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ เปิดโอกาสให้ไทยเรียนรู้จากอียู และอียูเรียนรู้จากไทย เป็นกลไกสำคัญให้ไทยสามารถพูดคุยเจรจากับฝ่ายอียูได้อย่างมีศักดิ์ศรีและอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เพิ่มโอกาสในการผลักดันสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยได้มากขึ้น ความตกลง PCA จึงไม่ได้เป็นเพียงหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่เป็นโอกาสเชิงกลยุทธ์และเป็นการลงทุนในอนาคตของประเทศไทยด้วย
ประโยชน์หลัก ๆ ของ PCA มีอะไรบ้าง ?
เตรียมความพร้อมให้ไทยสามารถรับมือกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Security) :
ความตกลง PCA จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ไทยสามารถรับมือกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภัยคุกคามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซนเตอร์ ภัยไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ การทุจริตคอร์รัปชั่น การฟอกเงิน การก่อการร้าย ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและอียูจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือในหลายสาขา เช่น การสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) และความมั่นคงทางทะเลของไทย จะทำให้ไทยสามารถรับมือและจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เสริมสร้างขีดความสามารถของไทยเพื่อยกสถานะประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ (Status) :
ความตกลง PCA นี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยให้มีบทบาทในเวทีโลกและเสริมความโดดเด่นของไทยในอาเซียน เป็นบันไดให้ประเทศไทยก้าวไปมีบทบาทเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025 – 2027 ของไทย การเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) สนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ เช่น กรอบอาเซียน การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) หรือกรอบสหประชาชาติ ทำให้ไทยสามารถมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของไทยในการแสดงบทบาทสะพานเชื่อม (bridge-builder)
การเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านสีเขียวอย่างยั่งยืน (Sustainability) :
ในยุคสมัยที่โลกกำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียว ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด อียูถือเป็นอีกผู้เล่นหลักในโลกที่มีความเอาจริงเอาจังในการผลักดันให้คู่ค้าของตนเองมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ทัดเทียมกับตนเอง ในบางครั้งจึงหมายถึงต้นทุนที่แต่ละประเทศคู่ค้าของอียูต้องแบกรับมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามมาตรฐานของอียู
ดังนั้น การที่ไทยมีกรอบความตกลง PCA กับอียูจะช่วยให้ไทยสามารถปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียวร่วมกับอียูได้ดียิ่งขึ้น ผ่านเวทีในการหารือเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการตามกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) และกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (European Union Deforestation-free Products Regulation: EUDR) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย
นอกจากนี้ ไทยและอียูสามารถมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยี Carbon Capture ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับอียูจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการเป็นกลางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายใน ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ภายใน ค.ศ. 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประชาคมโลกในอีกทางหนึ่งเช่นกัน
ในด้านการค้าและการลงทุน ความตกลง PCA จะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมและมาตรฐานด้านการค้าของไทยให้มีคุณภาพมากขึ้นและให้เทียบเท่าระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องการค้าดิจิทัล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย – อียู ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จในการเจรจา FTA ไทย – อียูในอนาคต มาตรฐานทางการค้าที่สูงขึ้นนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับไทยและช่วยรองรับการเจรจา FTA ไทย – อียูครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ ปัจจุบัน อียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ผลการศึกษาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพบว่า FTA ฉบับนี้จะช่วยทำให้ GDP ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28 ต่อปี และการส่งออกของไทยขยายเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 2.8 ต่อปี รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสและกระจายความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนให้กับไทยท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ เป็นโอกาสที่ดีของไทยในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิกอียูอีก 27 ประเทศ และยังช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทยในเรื่องการลดภาษี เนื่องจากไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากอียูตั้งแต่ปี 2558
มาตรฐานไทย ก้าวไกลสู่ระดับสากล (Standard)
ความตกลง PCA เปรียบเสมือนตัวชี้วัดว่า ไทยยึดมั่นและสนับสนุนค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นสากลเช่นเดียวกันกับอียู เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ความยุติธรรม ความเท่าเทียมทางเพศ กรอบความตกลง PCA จะช่วยยกระดับมาตรฐานค่านิยมเหล่านี้ รวมทั้งความร่วมมือที่สำคัญด้านอื่น ๆ เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว ความร่วมมือทางการศาลและทางอาญา และความร่วมมือทางมนุษยธรรมของไทยให้มีความทันสมัยและทัดเทียมสากลมากยิ่งขึ้น
ความตกลง PCA จะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถขยายและเข้าถึงโครงการหรืองบประมาณความร่วมมือของอียูได้มากขึ้น อาทิ ไทยสามารถขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสามารถเข้าถึง sharing research infrastructure ของอียู เช่น โครงการ Southeast Asia-Europe Joint Funding Scheme for Research and Innovation (JFS) ความร่วมมือกับ European Research Council ด้านการแลกเปลี่ยนฝึกฝนนักวิจัย และ Horizon Europe ทุนวิจัยใหญ่ของยุโรป การเข้าถึงแหล่งเงินสนับสนุนและทุนการศึกษาของอียู โครงการ Global Gateway ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับโลกที่ยั่งยืนและปลอดภัย ซึ่งให้ความสำคัญต่อการศึกษาและการวิจัย และโครงการ Erasmus Mundus หรือ ERASMUS plus ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในกลุ่มเยาวชนไทย เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในกลุ่มประเทศยุโรป เป็นการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเยาวชนไทย
ร่วมมือร่วมใจ พาไทยก้าวหน้า (Synergy)
การที่ไทยจะสามารถบังคับใช้กรอบความตกลง PCA อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน เนื่องจากภายใน PCA ประกอบด้วยประเด็นที่หลากหลายตั้งแต่การค้าไปจนถึงการประมง งานใหญ่ย่อมเป็นบ่อเกิดของความสามัคคี ดังนั้นจึงต้องมีเจ้าภาพหลักสำหรับแต่ละประเด็นโดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานให้
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานไปในทิศทางที่สอดประสานกันได้
นอกจากนี้แล้วการมีกรอบความตกลง PCA จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย – อียูให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพราะทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ผ่านการเจรจาหารือ การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อการเรียนรู้ อีกทั้งจะมีกลไกคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ที่จะเป็นช่องทางในการหาทางออกร่วมกันของทั้งสองฝ่ายหากมีปัญหาหรือความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น
นอกเหนือจากประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว PCA ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน การปูทางไปสู่การเจรจาขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกน (Schengen Agreement) กับอียู ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยว ทำธุรกิจ หรือทำงานในประเทศในเขตเชงเกนได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – อียูได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 10 กันยายน 2567