มาริษหารือที่ปรึกษา กต.สหรัฐ สองฝ่ายพร้อมทำงานใกล้ชิด ไทยยื่น 2 สัตยาบันสาร IPEF
เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (UNGA79) ที่นครนิวยอร์ก ได้พบหารือกับนายทอม ซัลลิแวน ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายสหรัฐได้แสดงความยินดีในโอกาสที่น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยเข้ารับตำแหน่งใหม่ ทั้งสองฝ่ายย้ำความพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐ ทั้งยังได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินบทบาทเชิงรุกของไทยในภูมิภาค และได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา
ในโอกาสนี้ นายมาริษยังได้ยื่นสัตยาบันสารความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) จำนวน 2 ฉบับ ต่อนายซัลลิแวน ประกอบด้วย ความตกลง IPEF เพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Overarching Agreement) เพื่อจัดตั้งกลไกระดับรัฐมนตรีในการกำกับดูแลภาพรวมความร่วมมือ IPEF และความตกลง IPEF ว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงภายใต้เสาความร่วมมือที่ 4 ของ IPEF เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสด้านการจัดเก็บภาษีและการต่อต้านการทุจริต
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมรัฐมนตรี IPEF ที่สิงคโปร์ โดยความตกลง IPEF เสาความร่วมมือที่ 4 ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลด้านการต่อต้านการทุจริตและการจัดเก็บภาษีที่โปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการค้าการลงทุนคุณภาพสูง ในขณะที่การจัดตั้งกลไกตามความตกลง Overarching Agreement จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนความร่วมมือ IPEF ของแต่ละเสาความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกันในภาพรวม
นายมาริษให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับนายซัลลิแวนว่า ได้มีการยื่นสัตยาบันสารในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) 2 ฉบับ ถือเป็นเอกสารสำคัญที่เห็นความตั้งใจของประเทศไทยในการร่วมมือกับประเทศสมาชิก IPEF และได้เล่าถึงพัฒนาการสถานการณ์ประเทศเมียนมาด้วยเช่นกัน ซึ่งนายซัลลิแวนเข้าใจในความพยายามของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับประเทศที่มีบทบาททั้งหมดในการแก้ไขเมียนมาทั้งหมด ซึ่งสหรัฐเห็นความสำคัญของไทย และรับทราบว่าไทยต้องการร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมาให้ลุล่วงไปได้โดยเร็ว
ขณะที่ในช่วงดึกวันเดียวกัน นายมาริษได้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ผ่านระบบการประชุมทางไกลด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 กันยายน 2567