สารในโอกาสครบรอบ 137 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตญี่ปุ่น-ไทย
วันนี้เมื่อ 137 ปีก่อน ในวันที่ 26 กันยายน เป็นวันที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้ลงนามใน “ปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์” และเริ่มต้นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตญี่ปุ่น-ไทยในยุคสมัยใหม่ ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันมายาวนานกว่า 600 ปี โดยเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนระหว่างอาณาจักรริวกิวและอาณาจักรอยุธยา และนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการผ่านการลงนามในปฏิญญาดังกล่าว
เมื่อปี พ.ศ.2430 ทั้งสองประเทศได้สานสัมพันธ์ในความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นและอยู่บนฐานของความเชื่อใจ จนถึงปัจจุบัน ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันโดยให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นต้น ด้วยการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ได้ช่วยกระชับมิตรภาพระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไทยให้แน่นแฟ้น อีกทั้งสร้างความเข้าใจอันดีและความเคารพในวัฒนธรรมของกันและกัน
ทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนอันแน่นแฟ้นซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้ มีเงินลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นจำนวนรวมมากถึงราว 4 ล้านล้านบาท ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลากหลายด้าน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2567 ยังถือเป็นโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 70 ปี หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากนี้ไปบริษัทเอกชนญี่ปุ่นจะยิ่งขยายกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้ยิ่งแน่นแฟ้น
นอกจากนี้ ปีนี้ยังถือเป็นโอกาสครบรอบ 70 ปี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) จากรัฐบาลญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย โดย ODA จากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนในด้านการศึกษา สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศไทย รวมถึงมีโครงการสถาบันไทยโคเซ็นในประเทศไทยที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2562 ซึ่งนักศึกษารุ่นแรกของโครงการได้จบการศึกษาไปในปีนี้ และสถาบันโคเซ็นนี้จะยังคงผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งต่อไปยังวงการอุตสาหกรรมไทยต่อไปในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2568 จะมีการจัดงาน Expo 2025 Osaka, Kansai ธีมหลักของงาน Expo 2025 ครั้งนี้คือ “ออกแบบสังคมในอนาคตที่ชีวิตส่องประกาย” เป็นสถานที่ให้ผู้คนจากทั่วโลกมารวมตัวและตระหนักถึงอนาคตร่วมกัน ซึ่งในงานเวิลด์เอ็กซ์โปครั้งนี้ อาคารนิทรรศการไทยจะจัดขึ้นภายในธีม “สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ (Thailand Empowering Lives For Greatest Happiness)” โดยหวังว่าจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยจะร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืนและสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง
ทางด้านวัฒนธรรม ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย มีหลายสิ่งที่คล้ายเคียงกัน ทั้งสองประเทศต่างมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าอยู่มากมาย โดยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมใหม่ที่ร่วมสมัย และปีนี้ยังถือเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ โดยจะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้ยิ่งแน่นแฟ้นด้วยการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านการศึกษา วัฒนธรรม และกีฬา ซึ่งจะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต
ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ต่างมีความท้าทายร่วมกัน เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น ประเทศญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรือง และมุ่งหวังว่าจะสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนอย่างรอบด้านต่อความพยายามของประเทศไทยในการเสริมสร้างประชาธิปไตยและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหวังว่าจะสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นร่วมกัน
ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเหล่านี้ เราจะมองย้อนกลับไปถึงความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพอันดีระหว่างญี่ปุ่นและไทยที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน และยังคงพยายามกระชับสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพดังกล่าวให้ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น ในโอกาสแห่งการเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ หวังด้วยใจจริงว่าทั้งสองประเทศจะจับมือกัน และก้าวไปข้างหน้าสู่ความท้าทายในอนาคต
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 กันยายน 2567