บีโอไอ เปิดทิศทางการลงทุนโค้งสุดท้ายถึงปีหน้า กับ 5 อุตสาหกรรมใหม่
เลขาฯ บีโอไอ เปิดทิศทางการลงทุนโค้งสุดท้าย ปี 2567 จนไปถึงปีหน้า โฟกัส 5 อุตสาหกรรมใหม่ ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศต่อเนื่อง กางแผนโรดโชว์ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งเอเชีย สหรัฐฯ ยุโรป
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 เห็นว่ามีทิศทางดีต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้กับการลงทุนของนักลงทุนที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขาสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น
“การดึงการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญถือว่ามีทิศทางที่ดีไปจนถึงปีหน้า เพราะว่าเรื่องของความขัดแย้ง ภูมิรัฐศาสตร์ จะมีความรุนแรงมากขึ้น เป็นตัวเร่งการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย นักลงทุนก็เร่งเข้ามาลงทุนทั้งในอาเซียน และประเทศไทยที่ได้อานิสงค์ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ประเทศไทยต้องคว้าไว้ให้ได้ เพราะว่าก็มีหลายประเทศที่เป็นคู่แข่ง” นายนฤตม์ ระบุ
อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยดึงดูดการลงทุนจากสาขาที่สำคัญเข้ามาได้ จะช่วยสร้างความมั่นคงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทยในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขาสำคัญ ที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 มีดังนี้
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) :
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย และมีทิศทางยังคงขยายตัวต่อเนื่องซึ่งไม่ใช่แค่การประกอบรถอย่างเดียวแต่มีเรื่องของการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ :
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง รวมทั้งแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) พบว่า เป็นอุตสาหกรรมมีการลงทุนอย่างมากในปี 2567 นี้ และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ให้ขยายตัวต่อเนื่อง ในระดับนโยบายจะมีการก่อตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ขึ้นมาเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้มีการผลักดันนโยบาย พร้อมจัดทำโรดแมประยะยาวเพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมดิจิทัล :
อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีการลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่รับโลก เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ Google ได้ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย
ทั้งนี้ บีโอไอ มองว่า นอกจาก Google แล้ว ในช่วงต่อจากนี้ไปจะยังมีบริษัทใหญ่อีกหลายรายที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย หลังจากมีบางบริษัทเข้ามาหารือกับบีโอไอ แล้ว และไม่นานนี้คาดว่า บริษัทต่าง ๆ จะประกาศตัวเลขการลงทุนออกมาอย่างเป็นทางการ
อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต :
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากความถนัด แสดงศักยภาพของประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร และที่ผ่านมาในประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD) ครั้งที่ 3 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนองต่อความต้องการอาหารทั่วโลกด้วย
อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน :
อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญ เพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องการไฟฟ้าที่มาจากแห่งผลิตที่เป็นพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการวางแผนในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากพลังงานจากพลังงานสะอาดมากขึ้นอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นจากโซลาร์เซลล์ พลังงานไฟฟ้าจากลม และพลังงานชีวมวล (Biomass Energy)
เลขาฯ บีโอไอ ยังระบุถึงแผนการโรดโชว์ของบีโอไอในช่วงที่เหลือของปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ว่า บีโอไอเตรียมแผนการเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศผู้ลงทุนหลักในประเทศไทยหลายแห่ง ทั้ง ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รวมทั้งอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่ ส่วนในยุโรป จะเดินทางไปยังเยอรมัน และฝรั่งเศส เช่นกัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 7 ตุลาคม 2567