มาริษชี้ UN เชื่อมั่นศักยภาพไทย นั่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ลั่นพร้อมแสดงบทบาทนำ
หลังจากที่ไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเมื่อคืนของวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า
“เรื่องนี้ถือว่าเป็นเกียรติที่ประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศสมาชิกสหประชาชาติเห็นความสำคัญของประเทศไทย และศักยภาพของไทยที่จะมีบทบาทในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงบทบาทสำคัญในเรื่องของการแก้ไข หรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกรอบของสหประชาชาติได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ เขาได้กล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้สนับสนุนให้ประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้
นายมาริษ ระบุอีกว่า “ประเทศไทยได้กำหนดบทบาทไว้ว่าจะเป็น ‘สะพานเชื่อม’ ในประชาคมโลกที่มีความแตกต่างกันในเรื่องความเห็น วัฒนธรรม รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน โดยจะนำมาสู่ความร่วมมือเพื่อจัดการกับอุปสรรคที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไปได้ โดยการที่ไทยได้รับแต่งตั้งในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสหประชาชาติมีความเชื่อมั่นในบทบาทนี้ของไทยด้วย”
นายมาริษเน้นย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะแสดงบทบาทนำในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้สากลยอมรับในเรื่องของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในทุกๆ ภูมิภาคร่วมกัน
ทั้งนี้ HRC มีสมาชิกจำนวน 47 ประเทศ จากกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ประเทศ, กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ, กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ, กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ และกลุ่มยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศสมาชิก HRC จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน คูเวต สาธารณรัฐคีร์กีซ มาเลเซีย มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม
โดยที่ประเทศไทย สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ.2025-2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570 ซึ่งต้องแข่งขันกับ 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไซปรัส กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไทย สำหรับตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสมาชิกทั้งหมด หรือ 97 คะแนน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 5 ลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึง 2013 หรือ พ.ศ.2553 ถึง 2556 โดยประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งประธาน HRC ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 (ค.ศ.2010) ถึงเดือนมิถุนายน 2554 (ค.ศ.2011) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ HRC ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประธานฯ ได้นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้
นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก HRC เมื่อปี 2554 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน (Enhancement of Technical Cooperation and Capacity Building in the Field of Human Rights) ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่าง (penholder) ของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 10 ตุลาคม 2567