"PCA ไทย-อียู" ลู่ก่อนลมมรสุมความท้าทายโลก
ในปัจจุบัน โลกเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก ท่ามกลางความท้าทายในหลากหลายมิติโดยเฉพาะในเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พลิกผันพฤติกรรมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความแตกแยกเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ความมั่นคงของประเทศเกิดการสั่นคลอนและเปราะบางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การก้าวผ่านสภาวะแวดล้อมเช่นนี้ย่อมเป็นภาวะหนักอึ้ง ไทยจำเป็นต้องเสริมสร้างกลไกที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปรับปรุงโครงสร้างของประเทศให้สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่ เพื่อที่ไทยจะได้ไม่ "ตกขบวน"
นับตั้งแต่ปี 2004 ไทยและสหภาพยุโรป (อียู) เจรจาเพื่อจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-อียู (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation: PCA) ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในไทย การเจรจาเพื่อจัดทำ PCA เพิ่งสัมฤทธิ์ผล และผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และในวันที่ 20 ตุลาคมนี้เอง กรอบความตกลง PCA ถือว่ามีผลใช้บังคับไปพลางก่อน
จากชื่อกรอบความตกลงก็ปรากฎชัดเจนว่าเป็นกรอบความร่วมมือในลักษณะ “รอบด้าน” ทำให้ภายใต้ข้อตกลงนี้ไทยสามารถแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ท่ามกลางโลกทั้งในลักษณะที่คนจะเปรียบว่าเป็น VUCA World หรือ Bani World ก็ตาม นอกจากนี้ปี 2004 ยังเป็นก้าวแรกของไทยในการปรับเปลี่ยนระเบียบต่างๆ ให้สามารถเข้ากับปทัสถานใหม่ของโลก (new global norms) ทำให้ไทยสามารถรับมือแนวทางปฏิบัติปัจจุบันที่นานาประเทศเรียกร้องได้อย่างทันท่วงที แสดงให้เห็นว่า “ไผ่” ต้นนี้ลู่ก่อนพายุลมที่โหมกระหน่ำเข้ามาเสียอีก
ปรากฎการณ์การเติบโตของกระแสความคิดทางการเมืองแบบขวาจัดส่งผลให้รัฐมีแนวโน้มที่จะกำหนดนโยบายโดยให้ความสำคัญกับประเด็นภายในประเทศเป็นที่ตั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีระยะห่างกันมากขึ้น ขณะที่ประเทศมหาอำนาจก็แข่งขันกันอย่างรุนแรง ไทยจำเป็นต้องดำเนินยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมความเป็นมิตรชิดใกล้ เพื่อรักษาดุลยภาพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศในห้วงที่โลกกำลังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กรอบความตกลง PCA จึงเปรียบเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 27 ตัว เพราะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์กับสมาชิกอียู 27 ประเทศได้ในคราวเดียว
อีกทั้งความสำเร็จของข้อตกลงนี้ยังเป็นหลักฐานที่ชี้ให้ประชาคมโลกเห็นว่า ไทยได้รับการยอมรับจากสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองอันดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้ไทยมีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงมีมาตรฐานเดียวกันกับรัฐสมาชิกอียู ส่งเสริมมุมมองและความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อไทยว่า เป็นประเทศที่น่าดึงดูดและเหมาะสมในการทำการค้า การลงทุนและพัฒนาความสัมพันธ์ด้วย โดยผลลัพธ์หลังที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ไทยจะมีขีดความสามารถในการต่อรอง และสามารถฟื้นคืนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งได้กลายเป็น new normal ในโลกปัจจุบันไปแล้วได้มากขึ้น
สงครามการค้า รวมถึงการท่าทีการก่อสร้างกำแพงทางการค้าที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกหนึ่งปัจจัยที่สั่นคลอนความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย กรอบความตกลง PCA นี้จะเปิดประตูให้ไทยสามารถดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับทวิภาคีโดยตรงกับรัฐสมาชิกอียู 27 ประเทศ ในขณะเดียวกัน PCA เป็นสะพานเชื่อมสำคัญในการเดินหน้าสู่การบรรลุผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอียู ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 4 ของไทย ที่มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุว่าข้อตกลง PCA นี้ได้บัญญัติค่านิยมสากลอย่าง ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทรัพย์สินทางปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในการเจรจา FTA ทั้งสิ้น
ฉะนั้น PCA จึงเปรียบเสมือนเอกสารรับรองว่าไทยมีมาตรฐานสอดคล้องกับสหภาพยุโรปซึ่งเหมาะสมต่อการค้าการลงทุน และจะทำให้การเจรจา FTA สำเร็จผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่า PCA เป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูสู่ตลาดการค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยกระจายโอกาสในการส่งออกของไทย ลดผลกระทบจากสภาวะแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากไม่กี่ประเทศ ไปพร้อมกับการมีช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรที่อียูจัดสรรภายใต้ PCA และเรียนรู้แนวทางปฏิบัติอันดีของสหภาพยุโรปอีกด้วย
นอกจากนี้ ในห้วงที่โลกที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป โดยภายใต้ PCA ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนเงินทุนและงบประมาณความช่วยเหลือภายใต้โครงการต่างๆ ของอียูได้มากขึ้น เช่น โครงการ Horizon Europe ซึ่งเป็นทุนวิจัยและพัฒนา โครงการ Eramus Mundus หรือ Eramus+ ซึ่งเป็นทุนการศึกษา ตลอดจนโครงการ Global Gateway ที่เป็นโครงการที่สนับสนุนความเชื่อมโยงหลายด้านอย่างครอบคลุม ได้แก่ ดิจิทัล พลังงาน การคมนาคม สาธารณสุขและการศึกษา การเข้าถึงการสนับสนุนนี้จะช่วยส่งเสริมทักษะของบุคลากรไทยให้สามารถตั้งรับ ปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรมท่ามกลางความปั่นป่วนของโลกยุคปัจจุบันได้
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศบีบบังคับให้ทุกประเทศต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้ การเปลี่ยนผ่านสีเขียวกลายเป็นวาระที่ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือและก่อให้เกิดมาตรฐานสากลฉบับใหม่ที่แนวทางการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจจะต้องสอดรับกับหลักการของความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการที่อียูได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) และ กฎหมายปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ภายใต้ PCA ไทยสามารถลดต้นทุนในห้วงการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ผ่านความร่วมมือที่จะช่วยปรับโครงสร้างธุรกิจไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอียู รวมถึงความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานอย่างเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แล้วนั้น ยังเป็นการปรับระเบียบการค้าของไทยให้ทันสมัยกับสากลโลก ไม่ทำให้ไทยหลุดออกจากจอเรดาห์ตลาดโลกและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้อีกด้วย
ทฤษฎีโดมิโนที่ถูกใช้เมื่อครั้งสมัยสงครามเย็นยังคงสามารถใช้ได้ในบริบทโลกปัจจุบัน เมื่อโดนิโมตัวนึงล้มลงโดมิโนด้วยอื่นๆ ก็จะล้มลงตามมาเป็นทอดๆ ทั้งนี้ หากผู้เล่นวางเกมด้วยการหลบหลีกจากผลกระทบดังกล่าวไว้ล่วงหน้า โดนิโนก็ยังจะสามารถตั้งตรงอยู่ได้เหมือนที่ไทยได้เริ่มทำเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
หมายเหตุ: ข้อมูลที่ใช้ในรายงานฉบับนี้มาจากงานเสวนาโต๊ะกลม ‘ก้าวสู่สัมพันธ์ ไทย-EU ยุคใหม่ ไทยจะได้อะไรภายใต้ PCA’ จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ Nation Group เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม โดยมีนางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป น.ส. โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร. ณัฐนันท์ คุณมาศ ผอ. ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาฯ ดร.ภก. นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธาน ส.อ.ท. น.ส. วันทนีย์ ละลี ผอ.กลุ่มอนุสัญญาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และนางภารณี อดุลยพิเชฏฐ์ นายกสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 ตุลาคม 2567