"ฮาโลวีน" เทศกาลหากินกับผี เปลี่ยนความเชื่อกลายเป็นเศรษฐกิจหมื่นล้าน
แม้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 "ฮาโลวีน" จะยังคงเป็นเทศกาลที่เน้นเรื่องศาสนาและชุมชนเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทศกาลนี้ได้ผสมผสานองค์ประกอบของนิยายสยองขวัญ นิทานพื้นบ้าน และการค้าเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปตะวันตกอย่างแท้จริง
เทศกาลฮาโลวีน (Halloween) ที่จัดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี มีรากฐานมาจากเทศกาล Samhain ของชาวเคลต์โบราณ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวและการเริ่มต้นฤดูหนาว ด้วยความเชื่อว่าเป็นช่วงที่เส้นแบ่งระหว่างโลกของคนเป็นและคนตายเลือนราง
เมื่อศาสนาคริสต์แพร่หลาย จึงได้ผนวกเข้ากับเทศกาล All Saints' Eve จนกลายเป็นจุดกำเนิดของฮาโลวีนในปัจจุบัน ผู้อพยพชาวสก็อตและไอริชได้นำประเพณีนี้เข้าสู่อเมริกาเหนือในศตวรรษที่ 19 จนเกิดเป็นประเพณีต่างๆ เช่น trick-or-treat ปาร์ตี้แฟนซี และการแกะสลักฟักทอง
แม้ว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ฮาโลวีนจะยังคงเป็นเทศกาลที่เน้นเรื่องศาสนาและชุมชนเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทศกาลนี้ได้ผสมผสานองค์ประกอบของนิยายสยองขวัญ นิทานพื้นบ้าน และผลประโยชน์ทางการค้าเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปตะวันตกอย่างแท้จริง
ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในสหรัฐ ฮาโลวีนถือเป็นเทศกาลที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยในปี 2023 มีการใช้จ่ายรวมสูงถึง 12,200 ล้านดอลลาร์ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2024 จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 11,700 ล้านดอลลาร์ก็ตาม เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ได้รับประโยชน์ ตั้งแต่ชุดผีแบบดั้งเดิมอย่างแวมไพร์และแม่มด ไปจนถึงตัวละครในวัฒนธรรมป๊อปที่กำลังเป็นกระแส
สัญลักษณ์อีกอย่างของฮาโลวีน คือ ฟักทอง ก็สร้างรายได้กว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 โดยเฉพาะในรัฐอิลลินอยส์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฟักทองรายใหญ่ ส่วนอุตสาหกรรมขนมหวานก็คาดการณ์ว่า ในปีนี้ ชาวอเมริกันจะใช้จ่ายโดยเฉลี่ยถึง 32 ดอลลาร์ต่อคน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Hershey's, Mars และ Nestlé รวมถึงธุรกิจขนมขนาดเล็กที่ผลิตขนมรสชาติพิเศษตามเทศกาล
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจการตกแต่งและงานอีเวนต์ตามธีมก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีรายได้โตขึ้นจากงานนี้ ทั้งการตกแต่งบ้านเรือน ธุรกิจ และพื้นที่สาธารณะด้วยโครงกระดูก ใยแมงมุม และไฟประดับสยองขวัญ รวมไปถึงการจัดบ้านผีสิง และขบวนพาเหรด อย่างเช่นขบวนพาเหรดฮาโลวีนประจำปีที่กรีนิชวิลเลจในนิวยอร์กที่ดึงดูดผู้ชมได้หลายล้านคน
เศรษฐกิจผีไทยไม่แผ่ว :
“ประเทศไทย” ก็ได้ใช้ประโยชน์จากตำนานและนิทานพื้นบ้านอันทรงคุณค่าโดยเฉพาะเรื่องผี เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เนื้อหาเกี่ยวกับผีของไทยได้วิวัฒน์จากประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่สินทรัพย์ทางการค้าที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยว การส่งออกสื่อ และการใช้จ่ายของผู้บริโภค
การผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผีกับธุรกิจบันเทิงได้สร้างปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตัวอย่างที่ร่วมสมัย เช่น ภาพยนตร์ “ธี่หยด” ภาค 2 สร้างปรากฏการณ์ทำลายสถิติรายได้หลายต่อหลายครั้ง เว็บไซด์ thailandboxoffice.com และสื่อต่างๆ ให้ข้อมูลว่า หนังทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทภายใน 32 ชั่วโมง และกลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปี 67 ด้วยยอด 350 ล้านบาทภายใน 5 วัน ก่อนจะทะลุ 400 ล้านบาทในวันที่ 6 และ 500 ล้านบาทภายใน 9 วัน นอกจากนี้ยังทำลายสถิติการฉายในระบบ IMAX ด้วยยอดผู้ชม 74,144 ที่นั่งภายในสัปดาห์เดียว
การท่องเที่ยวเชิงผีก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สร้างรายได้ อย่างเช่น เทศกาลผีตาโขนใน จ.เลย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ก.ค.67 ที่วัดโพนชัย สร้างรายได้โดยภาพรวมในช่วงการจัดงานเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ยอดอัตราการจองห้องพักอยู่ที่ 75% และจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 50,000 คน และในช่วงปลายปี 2567 ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ต่อยอดจากรายการวิทยุชื่อดัง “The Ghost Radio” รายการเล่าเรื่องผีออนไลน์ ผุดไอเดียจัดงาน The Ghost Halloween 2024 จัดแสดงบ้านผีสิง 3 สถานที่ ภายใต้ธีม บ้านผีเฮี้ยน โรงพยาบาลหลอน และโรงแรมสยองขวัญ ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.-10 พ.ย. ณ ศูนย์การค้า Union Mall
ปรากฏการณ์ “หากินกับผี” ทั้งในสหรัฐและไทยสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและวัฒนธรรม ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ผ่านการผสมผสานระหว่างความบันเทิง การท่องเที่ยว และการพาณิชย์ได้อย่างลงตัว ความสำเร็จนี้ไม่เพียงสร้างรายได้มหาศาล แต่ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกทางวัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของทั้งสองประเทศอีกด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 ตุลาคม 2567