"เป้าเงินเฟ้อ" ไร้ความหมาย ถ้าไม่ให้ความสำคัญ
ดูแล้วศึกระหว่าง "กระทรวงการคลัง" กับ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" หรือ แบงก์ชาติ คงไม่จบลงง่ายๆ เมื่อสัปดาห์ก่อน "พิชัย ชุณหวชิร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาตำหนิ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผ่านไมค์นักข่าว
ถึงปมเหตุที่ท่านผู้ว่าฯ ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อนอกเรื่องที่จะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย ซึ่งท่าน รมว.คลัง เกรงว่าการให้สัมภาษณ์ลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และยังทำให้นักเทรดเงินมีช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ได้
อีกประเด็นที่คนในแวดวงการเงินจับตาดู คือ การประชุมร่วมกันระหว่าง “คลัง” และ “แบงก์ชาติ” ซึ่งมีนัดหารือเมื่อวานนี้(29ต.ค.) เรื่องการ “ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ที่จะนำมาใช้ในปี 2568 โดยทางกระทรวงการคลังอยากให้แบงก์ชาติขยับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้น จากกรอบปัจจุบันที่ 1-3% เพื่อจะเปิดพื้นที่ให้แบงก์ชาติสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ หรือพูดง่ายๆ ก็ คือ เปิดพื้นที่ให้แบงก์ชาติสามารถ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” เพิ่มเติมได้นั่นเอง
กลับมาสู่ประเด็นที่คลังกับแบงก์ชาติกำลังถกเถียงกัน คือ จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่? …เรื่องนี้เราเห็นว่า “ไม่จำเป็นเลย” เพราะกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งหลายๆ ประเทศพยายามคุมเงินเฟ้อให้อยู่ระดับใกล้เคียง 2% ขณะที่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 1-3% มีค่าเฉลี่ยตรงกลางก็คือ 2% นั่นเอง นับเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องการความสมดุลอยู่แล้ว เพราะถ้าปล่อยให้เงินเฟ้อสูงมากเกินไปจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำเกินไปก็ทำให้ระดับหนี้ที่แท้จริงสูงขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ “หนี้” ของคนเกือบทุกกลุ่มพุ่งทะยานขึ้นไปมาก
เราเห็นว่าสิ่งที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ คือ การทำให้เงินเฟ้ออยู่ใน “กรอบเป้าหมาย” ตามที่ทำข้อตกลงร่วมกันไว้ เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนแบงก์ชาติยังให้น้ำหนักกับเรื่องนี้น้อยไปนิด ถ้าย้อนอดีตกลับไปตั้งแต่ช่วงที่แบงก์ชาติปรับเครื่องมือในการทำนโยบายการเงิน เปลี่ยนจากการใช้ “เงินเฟ้อพื้นฐาน” มาเป็น “เงินเฟ้อทั่วไป” เพื่อกำหนดนโยบายการเงินเมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว พบว่า มีเพียง 3 ปีเท่านั้นที่ แบงก์ชาติคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ คือ ปี 2561 , 2564 และ 2566 นอกนั้นหลุดกรอบกระจายจนต้องทำจดหมายเปิดผนึกถึง 11 ฉบับ เพื่ออธิบายต่อกระทรวงการคลังว่า เพราะอะไรจึงไม่สามารถคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้
มองไปข้างหน้าเอาแค่ระยะสั้นปี 2567 ก่อน ก็เป็นอีกปีที่เงินเฟ้อไทยน่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งแบงก์ชาติคาดการณ์เองว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ส่วนปีหน้า 2568 คาดว่าจะขยับขึ้นไปที่ 1.2% แม้เป็นระดับที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตรงกลางมาก แถมยังมีความเสี่ยงสูงที่จะต่ำกว่าเป้าหมายด้วย เพราะสถิติมันฟ้องถึงการคาดการณ์ที่ผิดอยู่บ่อยครั้ง เราจึงเห็นว่าก่อนจะไปขยับกรอบเป้าหมาย ควรดูแลให้เงินเฟ้อเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันก่อนดีกว่าหรือไม่?
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 30 ตุลาคม 2567