เลขาธิการ OECD ร่วมงานเปิดตัวกระบวนการหารือเข้า OECD ของไทย ชี้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 13.30 น. ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเสวนาเพื่อเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยในงานดังกล่าวมีเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย รวมถึงมีนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เข้าร่วมในงานเพื่อกล่าวสุนทรพจน์และส่งมอบหนังสือ road map ให้กับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายมาริษขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ประเทศไทยเริ่มพิจารณาที่จะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว และไทยได้ทำงานร่วมกับ OECD มาอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับชาติและภูมิภาค กระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิกของ OECD จะเป็นก้าวต่อไปของความร่วมมือนี้

มาริษกล่าวอีกว่า ไทยต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD เพราะมองเห็นโอกาสร่วมกันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ประการแรกคือเราต้องการที่จะยกระดับระบบนิเวศในหลายๆ ด้าน เราต้องการทำให้ภาคธุรกิจของเรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ภาครัฐของเรามีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของเรามีความยืดหยุ่นและยั่งยืนยิ่งขึ้น ทำให้การเติบโตของเราเป็นไปอย่างครอบคลุม ประการที่สอง เราอยากเพิ่มบทบาทของเราในการกำหนดนโยบายในระดับโลก เรามุ่งมั่นในการเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่งคั่ง และความก้าวหน้าในภูมิภาคของเราและอื่นๆ ประการสุดท้ายคือเราอยากที่จะใช้การทูตเศรษฐกิจมุ่งส่งเสริมบทบาทของเราในการเป็นสะพานที่เชื่อมกับพันธมิตรของเราทุกคน จึงขอให้คำมั่นว่าเราจะเพิ่มความร่วมมือกับ OECD และประเทศสมาชิกทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อบรรลุกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อไป

ด้านนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD กล่าวบนเวทีว่า กระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ของไทยนี้เป็นการก้าวประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ OECD ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้วยการนำมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติมาใช้ในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของไทยเพื่อเพิ่มการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเติบโตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยดีขึ้น ทิศทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะยังคงเติบโตต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 30 ตุลาคม 2567