"การเชื่อมโยงเครือข่าย" น่าจะเป็นกุญแจใช้แก้ปัญหาของ SME ได้ในหลายแง่มุม
บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท. ในปี 2561 และ SCB – EIC ในปี 2567 ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของ SME อย่างชัดเจน เนื่องจากในปี 2566 SME มีจำนวนถึง 3.2 ล้านแห่ง ทั่วประเทศ ( = 99.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด ) โดยมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 71% และก่อ ผลผลิตได้ 38.5% ของ GDP
ทั้งนี้ SME ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจร้านขายของชำ (13%), ภัตตาคาร / ร้านอาหาร (10%), การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (4%), และ อู่ซ่อมรถ (4%)
ปัญหาสำคัญที่ SME ต้องเผชิญ :
ขนาด และ / หรือ เครือข่ายสาขาที่ค่อนข้างเล็กของ SME มักจะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหลายประการ ดังเช่นต่อไปนี้
(1)ขาดแคลนเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากตลาดในระบบ
(2)กระบวนการผลิตล้าสมัย ขาดการประยุกต์ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีรุ่นใหม่
(3)ขนาดของธุรกิจที่เล็ก พร้อมทั้งการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัจจัยที่จำกัดประเภทและปริมาณการผลิต ทำให้รายได้มีความผันผวนสูง (volatile)
(4)มักจะขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ทันต่อเวลา และขาดการกระจายผลผลิต (diversification) จึงเพิ่มความเปราะบาง (vulnerability) ต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมือง
(5)ผลผลิตขาดจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ จึงประสบความลำบากในการแข่งขัน
(6)กลยุทธ์ทางการตลาดไม่ดีพอที่จะสามารถเข้าถึงและดึงดูดใจลูกค้าได้มาก
(7)ปัญหาพิเศษสำหรับ SME ในเมืองรอง คือ ตลาดมีขนาดเล็ก แรงงานขาดแคลน และโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย (เช่น ถนนชำรุดหรือคับแคบ ค่าขนส่งสินค้าแพง และระบบ internet เข้าไม่ถึง)
(8)แม้รัฐจะมีองค์กรช่วยเหลืออยู่หลายแห่ง แต่ขบวนการและขั้นตอนก็ยังยุ่งยากและซับซ้อน
“การเชื่อมโยงเครือข่าย” ช่วยได้อย่างไร :
การเชื่อมโยงเครือข่าย (interlink) ของ SME ที่จะกล่าวถึงในที่นี้มีจุดประสงค์ที่จะแก้ไขต้นตอของปัญหา SME นั่นคือ ขนาดของเครือข่าย SME ควรใหญ่ขึ้น ครอบคลุมประเภทสินค้า บริการ และพื้นที่ได้มากขึ้น เพื่อให้สามารถต่อสู้กับแรงแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้นในหลายแง่มุม เช่น
(1)สามารถให้บริการลูกค้าได้กว้างไกลและทันต่อเวลา
(2)ปรับปรุงคุณภาพของสินค้า และกระจายประเภทของผลผลิตเพื่อให้จูงใจลูกค้าได้มากขึ้น
(3)ใช้กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมเพื่อกระจายข้อมูลแก่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
(4)คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทั้งจำนวนลูกค้าและผลกำไรสุทธิ
หลายฝ่ายอาจมีความเห็นตรงกันว่า เป้าหมายทั้ง 4 ประการนี้คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับ SME ของไทย อย่างไรก็ตาม ถ้าเราปรับแนวคิดของการเชื่อมโยงเครือข่ายกิจการให้มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจจะใช้แนวคิดนี้มาช่วยแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ของ SME ไทยได้สำเร็จ
หากเรามองบริษัทธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่ประสบผลสำเร็จในการประกอบการในไทยเป็นตัวอย่างเช่น กลุ่ม CP จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อบริษัทมีหน่วยงานในเครือดำเนินกิจการที่ครบวงจร
ตั้งแต่การสร้างผลผลิตหลายประเภทที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า การเผยแพร่ข้อมูลโฆษณาที่ถูกต้องและไว้ใจได้ การจัดตั้งสาขาอย่างแพร่หลายเพื่อสนับสนุนงานขายปลีกและขายส่ง การจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว การให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ และสามารถปรับตัวได้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์
บริษัทจึงประสบความสำเร็จด้วยดีในการดำเนินธุรกิจ แต่ก็ต้องมีผู้นำที่มีทัศนคติที่รอบคอบ และมีวินัยทางเงินพร้อมทั้งบรรษัทภิบาลที่ดี เพราะผู้นำต้องดูแล รับผิดชอบ และประสานงานของหลายองค์ประกอบหรือบริษัทในเครือ ซึ่งครอบคลุมสินค้า / บริการ เป็นจำนวนมากในหลายเขต
ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นนี้จึงควรเป็นแม่แบบของการเชื่อมโยงเครือข่าย SME ในไทยเข้าด้วยกันตามความสมัครใจ กล่าวคือ กลุ่มใหญ่ของ SME (Aggregate SME, ASME) ควรถูกจัดตั้งขึ้นโดยประกอบด้วยบริษัทหรือเครือข่ายสมาชิกหลายประเภท / อาชีพ (multifaceted) เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ ขายอาหาร / ของชำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ในหลายพื้นที่
หน้าที่ของ ASME คือแบ่งกระจายงาน / ประสานงาน ให้แก่บริษัทสมาชิกหลายประเภทในหลายเขตเหล่านั้น (เช่น ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ยานยนต์ ขายของชำ) โดยมีเป้าหมายที่จะกระจายสินค้า / บริการ ไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ
ทั้งนี้บริษัท / เครือสมาชิกเหล่านี้จะเข้ามาทำข้อตกลงกันว่าจะมีส่วนเข้าร่วมลงทุนใน ASME อย่างไร และได้รับผลตอบแทนจาก ASME ตามสัดส่วนที่สมาชิกเหล่านั้นหารายได้ให้แก่ ASME (หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ASME แล้ว)
ในเมื่อปัญหาส่วนใหญ่ของ SME สืบเนื่องมาจากความไม่เพียงพอของเงินทุนและขนาดของกิจการค่อนข้างเล็ก การรวมตัวของ SME ไปเป็น ASME ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้อย่างแท้จริง
แต่ ASME ก็จะต้องคัดเลือกเอาบริษัทสมาชิกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และประสบการณ์ค่อนข้างมาก พร้อมทั้งรอบคอบและทันสมัยอยู่เสมอ มาเป็นบริษัทผู้นำ เพราะบริษัทผู้นำ ASME นี้ ต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับดีในตลาดเงินทุน รอบคอบและวางแผนให้แก่การปฏิบัติงานของบริษัทสมาชิกในกลุ่ม ASME ได้อย่างเป็นระบบที่ครบถ้วนตาม supply chain และความต้องการของตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ
นอกจากนั้น บริษัทผู้นำ ASME จะต้องมีบรรษัทภิบาลที่ดี และยังต้องสามารถวางกลยุทธ์การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในกลุ่มบริษัทสมาชิก ASME อีกด้วย เพราะการซื้อขายสินค้าและบริการอาจเกิดขึ้นได้ทั้งภายในกลุ่ม SME ด้วยกันเอง และกับลูกค้านอกกลุ่ม
ทั้งนี้การซื้อขายสินค้า บริการ หรือผลผลิตจากบริษัทสมาชิก ASME ก็ควรมีวิวัฒนาการผ่าน platform E-commerce ที่ทันสมัยหลายช่องทาง เพราะการเข้าร่วมในวงการเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคนี้ (เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์ผ่าน Lazada, Shopee, TikTok) ย่อมช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้แก่ ASME ได้อย่างแน่นอน
ข้อสรุป :
การเชื่อมโยงเครือข่าย SME แบบ ASME (ซึ่งมีความยืดหยุ่น เช่น หลายอาชีพ หลายฐานะการเงิน หลายเขต ฯลฯ) จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพให้แก่ SME ได้ในหลายแง่มุม พร้อมทั้งปรับโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจร ให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น (consolidated) ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้ SME เพิ่มขึ้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ข้อเสนอเช่นนี้ได้รับการยืนยันจาก Christine Lagarde ประธานของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ว่าปัญหาธุรกิจในประเทศยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันนีควรแก้ไขด้วยการควบรวมหรือเชื่อมโยงในทำนองเดียวกันนี้
ผลพลอยได้อีก 3 ประการของการควบรวมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายของ SME คือ
(1) จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้สู่ประชากรทั่วไป
(2) ช่วยเพิ่มระดับรายได้ต่อหัว (ที่ไทยต่ำกว่าสิงคโปร์และ มาเลเซียอยู่เป็นอันมากเสมอมา) หรือลดความยากจนที่แพร่หลายอยู่มาก จึงจะช่วยแก้ไขความยืดเยื้อของปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบัน
(3) การแก้ไขปัญหาของ SME โดยการควบรวมหรือเชื่อมโยงดังที่เสนอข้างต้นนี้ จะส่งผลดีอย่างถาวรให้แก่ SME ต่างจากมาตรการ stopgap measures ที่หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐกำลังพยายามนำมาช่วยเหลือ SME เช่น ลด และ / หรือ เลื่อนกำหนดชำระภาระหนี้ของ SME เพราะมาตรการเหล่านั้นจะส่งผลดีได้แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567