CBAM ยุโรปใช้จริงปี69 สหรัฐลุ้นทิศทางผู้นำใหม่-จีนเร่งเครื่องลดคาร์บอน
กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมกำลังนำไปสู่กติกาทางการค้าโลกใหม่ที่ไทยในฐานะที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศถึง 70% ต่อจีดีพีจะต้องตระหนักและปรับตัวให้เท่าทัน
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของEU (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)เป็นกลไกที่สหภาพยุโรป (EU) ใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงช่วยป้องกันการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีมาตรการควบคุมน้อยกว่าและยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ผลิตทั่วโลกหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อ1 ต.ค. 2566 เริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ซึ่งผู้นำเข้ามีหน้าที่รายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้า และการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต (Embedded Emissions) โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน จากนั้นวันที่ 1 ม.ค. 2569 กำหนดใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบ
“ปี 2573 คาดว่าจะมีการขยายประเภทสินค้าที่ต้องรายงานตามมาตรการ CBAM ให้ครอบคลุมสินค้าใน EU ETS ทั้งหมด ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมหนักที่ใช้พลังงานสูง เรียกได้ว่าจะขยายวงมากขึ้นและเข้มข้นขึ้น ”
“CBAM เป็นความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญ แต่ก็เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืนมากขึ้น การปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์และการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในยุคของการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”
ในส่วนแนวทางการช่วยเหลือภาคเอกชนไทยเพื่อปรับตัวบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ผลิตของไทย เช่น ตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอน กระบวนการตรวจสอบและรับรองการดำเนินงานของผู้ประกอบการ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ทั้งนี้ CBAM ไม่ได้มีเฉพาะที่ยุโรป โดยในฝั่งสหรัฐ มีร่างกฎหมายClean Competition Act (CCA) ของสหรัฐตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าที่มีกระบวนการการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง เช่น เหล็กและเหล็กกล้ แต่ร่างกฎหมายฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา
มาตรการUK CBAMของสหราชอาณาจักรจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 ขณะที่ ออสเตรเลียเริ่มหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ CBAM เมื่อ ก.ย. 2566 ได้แก่ เหล็กกล้า และ ซีเมนต์ ทั้งนี้ ออสเตรเลียตั้งเป้ารายงานผลการพิจารณาภายในปี 2567 แคนาดา เริ่มกระบวนการหารือภายในประเทศจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า
ด้านจีนบรรจุประเด็น Climate Change ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) และจัดตั้งตลาดซื้อขายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) เมื่อปี 2564 เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และมีการกำหนด Green Bond Principles เมื่อปี 2565 โดยกำหนดให้ใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้ 100% กับโครงการสีเขียว
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป(EU Deforestation Regulation:EUDR)เดิมจะมีผลในทางปฏิบัติในวันที่ 30 ธ.ค.2567 แต่ได้เลื่อนออกไปเป็น 30 ธ.ค. 2568
CBAM และกติกาการค้าอื่นๆ เป็นการ“บังคับ”ใช้ให้การขับเคลื่อนการผลิต การค้า และการลงทุนมุ่งไปสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญของกลไกการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ที่ตอนนี้กติกาต่างๆอาจยังไม่เข้มข้นมากแต่คาดว่าในอนาคตอันใกล้ความท้าทายสูงกำลังรออยู่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 ธันวาคม 2567