เปิดใจ "สีหศักดิ์" ไทยนั่งเก้าอี้สมาชิก HRC พร้อมแนะแนวทางไทย รับมือความผันผวนโลก
หมายเหตุ: นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชน หลังจากไทยเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) ระหว่างปี 2025- 2027
เหตุใดการเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) ระหว่างปี 2025- 2027 จึงมีความสำคัญ :
การเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) ระหว่างปี 2025- 2027 เป็นส่วนหนึ่งของการต่างประเทศไทย เนื่องด้วยเรื่องค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นมีความเป็นสากล จึงควรเป็นส่วนสำคัญของนโยบายต่างประเทศ เพราะจะทำให้การดำเนินการทางการทูตของไทยมีจุดเด่นมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถแสดงจุดยืนในด้านนี้ได้ดีในเวทีโลกและภูมิภาค
เนื่องจากว่าไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อีกทั้ง ไทยยังทำได้ดีอย่างต่อเนื่องในด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น เช่น การเข้าอนุสัญญาทรมาน การเข้าอนุสัญญาป้องกันการสาบสูญโดยบังคับ และการสมรสเท่าเทียม ซึ่งช่วยส่งเสริมมุมมองที่ว่าไทยสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะต้องไปบังคับให้ประเทศต่างๆ มีมาตรฐานเดียวกันในเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุว่าแต่ละประเทศต่างมีบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน
ในวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ไทยจะแสดงบทบาทอย่างไรบ้าง :
การที่ไทยเข้าไปเป็นสมาชิก HRC ไม่ใช่เพื่อมีที่นั่ง แต่เพื่อไปขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมการปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ไทยสามารถทำได้ โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจจะเกิดขึ้นในหลายประเทศเพราะประเทศเหล่านั้นขาดโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางของไทยจึงไม่ใช่เพื่อไปประณามประเทศต่างๆ หรือใช้ 2 มาตรฐาน แต่ไปช่วยในทางสร้างสรรค์ โดยที่ผ่านมาไทยขับเคลื่อนในเรื่องนี้เสมอมาผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ซึ่งแนวทางเช่นนี้เป็นหนทางที่ดี เพราะหลายประเทศจะไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ กระทั่งการเข้าไปพูดคุยเรื่องสถานการณ์ของแต่ละประเทศผ่านการให้ความช่วยเหลือก็เป็นช่องทางที่สร้างสรรค์ เพราะประเทศนั้นๆ ก็พร้อมที่จะพูดคุย
สำหรับไทย การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่การจัดการประชุมสมัยพิเศษและออกข้อมติประณาม เพราะจะทำให้ประเทศนั้นๆ ปฏิเสธข้อมติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการใช้วิถีทางการทูตเพื่อให้เกิดการพูดคุย ที่จะเปิดประตูให้เกิดความร่วมมือระหว่างคู่ขัดแย้งและคณะมนตรีฯ ในบางครั้งแต่ละกลุ่มและค่ายต่างๆ นั้นขาดการพูดคุยระหว่างกัน โดยไทยเสนอว่าควรให้มีการพูดคุยระหว่างกลุ่มประเทศมากขึ้น
บางครั้งในที่ประชุมระหว่างประเทศ ตัวแทนของแต่ละประเทศเข้ามากล่าวถ้อยแถลง แต่จริงๆ แล้วนั้น การพูดคุยต้องเกิดขึ้นนอกห้องประชุมด้วย การผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกี่ยวกับการแพ้ชนะ หรือแม้แต่ข้อมติที่ชนะด้วยคะแนนเสียงก็จะกลายเป็นข้อมติที่ไม่มีน้ำหนัก
เรื่องนี้เป็นโอกาสของไทยในการแสดงบทบาทระหว่างประเทศหรือไม่ :
ใช่ ถ้าเรามองให้ดี ไม่ใช่แค่สถานการณ์ในเมียนมาเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะแสดงบทบาท เช่นเดียวกับเจตจำนงค์ของไทยที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD ว่าไทยก็เป็นประเทศที่มีมาตรฐาน ไม่ได้เป็นประเทศที่ด้อยมาตรฐาน โดยทางองค์การฯ เองก็เห็นถึงความสำคัญของไทยในมิติการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ด้วย ไทยมีความเป็นตัวของตัวเองและต้องการระเบียบโลกที่ไม่ได้ผูกขาด เพราะโลกในปัจจุบันเกิดพลวัตอย่างมาก ไทยไม่ได้ต่อต้านใคร หรือจะเข้าไปเพื่อต่อต้านอะไร แต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการที่ไทยสมัครเป็นสมาชิก HRC ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีว่าไทยให้ความสำคัญในเรื่องประชาธิปไตย ตลอดจนเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมีความเป็นสากล และจะทำให้ไทยสามารถพูดได้แบบมีน้ำหนักในเวทีโลก
อะไรคือความท้าทายด้านการต่างประเทศของไทยในปี 2025 :
ประการแรก ต้องไม่ลืมว่าการต่างประเทศต้องเริ่มต้นที่บ้าน ถ้าประเทศไทยมีเสถียรภาพ ยึดมั่นในค่านิยมสากลจะทำให้ไทยมีน้ำหนักมากขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจของไทยก้าวหน้าหลังจากนั้น กระนั้นก็ดี ในกรณีที่การเมืองภายในไม่ดี แต่ถ้าไทยมีแนวทางการทูตที่ดี มีความคล่องตัวและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไทยก็สามารถมีบทบาทได้เช่นกัน
ประการที่สองคือเรื่องอาเซียน การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจดูเหมือนว่าจะมีความเข้มข้นขึ้น นโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ในวันที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าอย่างแน่นอน ทำให้ไทยต้องมาคิดว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
แน่นอนว่าไทยไม่เลือกข้าง แต่ไทยจำเป็นต้องมีจุดยืน และที่สำคัญคือต้องมีพลังทางการทูตพอสมควรที่จะสามารถต้านแรงกดดันที่เข้ามาได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ไทยต้องอาศัยพลังงานของอาเซียนในการวางตัวเองท่ามกลางการแข่งขัน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่ออาเซียนหรือกลุ่มประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ดี อาเซียนก็อ่อนกำลังไปเยอะเช่นกัน
ความสำคัญของอาเซียนในโลกปัจจุบันเป็นเช่นไร :
ความเป็นเอกภาพของอาเซียนนั้นลดลงไป โดยอาเซียนแสดงท่าทีเยอะแต่ไม่ค่อยมีผลอันเป็นรูปธรรมเท่าไรนัก เห็นได้ชัดจากเรื่องเมียนมา โดยเรื่องนี้มีสาเหตุเป็นเพราะว่าประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ได้มีวิกฤตร่วมกันเหมือนแต่ก่อน แต่ละประเทศเลยมองเรื่องผลประโยชน์ของตนเองมาเหนือผลประโยชน์ของภูมิภาค แต่ที่แท้จริงแล้ว ตามแนวคิดของอาเซียน ผลประโยชน์ของภูมิภาคและผลประโยชน์ของประเทศนั้นส่งเสริมซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ในห้วงการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ สมาชิกอาเซียนไม่ได้มีการแสดงพลังร่วมกัน ประกอบการที่ประเทศสมาชิกโดนดึงไปซ้ายไปขวาโดยประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือรอยแยกระหว่างประเทศอาเซียนที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่กับประเทศอาเซียนที่เป็นหมู่เกาะ
อีกหนึ่งปัญหาคือประเทศผู้นำอาเซียนไม่เหมือนแต่ก่อนที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของภูมิภาคด้วย อีกทั้ง แต่ละประเทศที่มีบทบาทนำก็ชัดเจน ซึ่งรวมถึงอินโดนิเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ ก็มีการตั้งคำถามอีกว่า บทบาทของไทยในอาเซียนนั้นหายไปหรือไม่ ขณะที่เวียดนามก็เข้ามามีความสำคัญมากขึ้น
มองว่าแนวทางการทูตที่เหมาะสมในปัจจุบันควรที่จะเป็นอย่างไร :
ต้องตระหนักว่าการดำเนินการทางการทูตในปัจจุบันมีประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ไทยต้องรู้เรื่องเทคโนโลยี ตลอดจนเรื่องห่วงโซ่อุปทาน เพราะการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้น ประเทศต่างๆ มีพันธกรณีร่วมกันมากขึ้น อย่างเช่นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด ซึ่งต้องยอมรับว่าพันธกรณีเหล่านี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกภาระพอสมควร ไทยต้องดูความพร้อมของตนว่าอะไรคือผลประโยชน์ของไทย
กระทรวงการต่างประเทศจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนเรื่องการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA โดยในปัจจุบันไม่ได้มีประเด็นแค่เรื่องการค้าเท่านั้น ข้อตกลงการค้าเสรีไม่ใช่แบบเก่า เห็นได้จากข้อตกลง FTA ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและแรงงาน โดยกระทรวงการต่างประเทศน่าจะเป็นตัวกลางที่ดี
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 มกราคม 2568