ส.อ.ท. แนะรัฐตั้งวอร์รูมรับ "ทรัมป์2.0" ส่งล็อบบี้ยิสต์เจรจา ลุยหาตลาดใหม่
"ส.อ.ท." แนะรัฐตั้งวอร์รูมรับมือ "ทรัมป์2.0" ส่งทีม "ล็อบบี้ยิสต์" ต่อรองการค้า ลุยหาตลาดส่งออกเพิ่ม ลดความเสี่ยงโดนขึ้นกำแพงภาษี ขณะที่ สินค้าต่างชาติหั่นส่วนแบ่งฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ธ.ค.67 ลดลงระดับ 90.1 จาก 91.4 หวั่นอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบปีนี้กว่า 30 กลุ่ม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากนโยบาย Make America Great Again ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้น ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐ แบ่งเป็น
(1)จัดตั้ง War Room และเตรียมล็อบบี้ยิสต์ที่เข้มแข็ง เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยและรับมือกับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากทรัมป์จะเปลี่ยนระบบการค้าแบบพหุภาคีไปทวิภาคีคือเจรจาเป็นคู่ๆ เอกชนต้องเตรียมตัวรัฐบาลเองก็ต้องมีลอบบี้ยีสต์ที่ดีๆ ในการเจรจาแลกเปลี่ยนผลกระโยชน์แบบวินๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายรวมถึงประเทศไทยได้ประโยชน์
(2)หาตลาดใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ เพราะหากยังมุ่งเป้าส่งออกไปที่เดิมๆ จะเป็นความเสี่ยง หากยกตัวอย่าง ในช่วงที่จีนโดนสงครามการค้าจากทรัมป์1 ได้ใช้วิธีหาตลาดใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันจีนสามารถลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐจากเดิม 27% เหลือไม่ถึง 20% โดยเฉพาะตลาดเซาท์อีสเอเชีย
“ทั่วโลกกังวลต่อมาตรการทรัมป์มาก ซึ่ง IMF ประเมิณว่าสหรัฐจะขึ้นภาษีผู้ค้าอย่างน้อย 10-20% ส่วนจีนโดน 60-100% ล่าสุดจะขึ้นภาษีเม็กซิโกและแคนาดาอีก 25% โทษฐานที่ปล่อยให้มีคนลักลอบผ่านแดนอย่างผิดกฎหมาย และยังคาดว่ามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐจะบั่นทอนต่อเศรษฐกิจโลกจากที่คาดว่าปี 2568 เศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 2.7% อาจจะลดงอีกราว 0.3% เหลือ 2.4% และยังมองถึงปี 2569 ว่าจะลดลงอีกหากยังทวีความรุนแรงมากขึ้น”
นอกจากนี้ จากการที่ไทยส่งสินค้นไปสหรัฐช่วงทรัมป์ 1 ได้ขยับอันดับจาก 14 มาเป็นอันดับที่ 12 ซึ่งการส่งออกปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นอีก โดยตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอาจอยู่อันดับที่ 9 ดังนั้น ทรัมป์จะจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ แล้วตั้งนโยบายมาตรการกับประเทศที่ได้ดุลการค้ามากขึ้น โดยเพิ่มค่าเงินให้แข็งกับประเทศคู่ค้าในข้อหาบิดเบือนค่าเงินกับสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐเกือบ 20% จะส่งผลต่อต้นทุนที่แพงขึ้น
“เมื่อสินค้าจีนไปสหรัฐไม่ได้ ต้องแสวงหาตลาดใหม่ จะเห็นว่าตลอด 16 ปี สหรัฐเป็นเบอร์ 1 ที่จีนส่งสินค้าและได้ดุลการค้าสูงสุด ซึ่งปี 2566 สัดส่วนลดลงและมาปูดที่เซาท์อีสเอเชียกว่า 5.3 แสนดอลลาร์ ซึ่งมาแย่งตลาดไทยและยังทะลักเข้าสู่ประเทศไทย จากข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปี 2565 ถึง 20 กลุ่มอุตสาหกรรม และปี 2566 กระทบ 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่ปี 2567 กระทบ 25 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยปีนี้จะกระทบ 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และคาดว่าจะรุ่นแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ปีนี้ประเทศทั่วโลกจะปรับการค้าการลงทุนใหม่”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 90.1 ปรับตัวลดลงจาก 91.4 ในเดือนพ.ย. 2567 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง และเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า มีวันทำงานน้อย และมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมและสภาพอากาศแปรปรวนในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่คลี่คลาย
ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง ต้นทุนราคาวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วม ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนก่อนหน้าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
อีกทั้ง อุปสงค์ในประเทศชะลอลง สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนพ.ย. 2567 หดตัว 31.34% อีกทั้ง สถาบันการเงินยังระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง หดตัวลงจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย
ขณะที่กลุ่มพลังงาน ชะลอลงตามคำสั่งซื้อที่ลดลง รวมไปถึง กำลังซื้อในประเทศโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคยังเปราะบาง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ผลิตเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธ.ค. ยังมีปัจจัยบวกจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมถึงผลจากการจัดทำ FTA ไทย – EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) ได้สำเร็จ
ขณะที่ผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิ์ FTA ในช่วง (ม.ค.-ก.ย.2567) คิดเป็น 85.58% เพิ่มขึ้น 2.11%YoY ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ประกอบกับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และอยู่ในช่วงขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อีกทั้ง การท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ การยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก การพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว (Ease of Traveling) บน Web Portal : Entry Thailand รวมถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,372 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนธ.ค. 2567 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 56.3% เศรษฐกิจโลก 52.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 40.1% ส่วนปัจจัยที่กังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 37.2% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 36.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 29.4%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจาก 96.7 ในเดือนพ.ย. 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 7 - 55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) ส่งกระทบต่อต้นทุนแรงงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตามนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 1/2568 และแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอแก่ภาครัฐเพิ่มเติม คือ
(1)ให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
(2)เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม
(3)เร่งขยายผลความสำเร็จจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย – EFTA ไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายโอกาสทางการค้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 มกราคม 2568