สศก. เผย ทรัมป์เล็งเก็บภาษีจีน 10% กระทบสินค้าเกษตรไทยทั้งบวกและลบ แนะปรับกลยุทธ์การส่งออก
เมื่อวันที่ 22 มกราคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ว่ารัฐบาลของเขากำลังหารือเรื่องการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอัตรา 10% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไปนั้น
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ทำการวิเคราะห์เบื้องต้นผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีต่อจีนของ สหรัฐฯ รวมถึงโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
สินค้าที่นำเข้าจากจีนนั้น จะมีต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นในการส่งออกสินค้าเกษตรทุกรายการไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 3,670.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของจีนลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่น ซึ่งจะส่งผล กระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อไทย
นายฉันทานนท์ เผยว่า ผลกระทบเชิงบวก หากจีนถูกจำกัดการส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ในทุกสินค้า จะเป็นโอกาสสำคัญของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นที่จะเข้าไปครองส่วนแบ่งตลาดที่จีนครองอยู่ โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสในการเข้าแทนที่จีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น กลุ่มอาหารสัตว์, เนื้อปลาแช่แข็ง และ ข้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และ ผลไม้แห้ง ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน เร่งผลักดันและเสริมสร้าง ศักยภาพในสินค้าเกษตรของประเทศเพิ่มขึ้น โดยต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือจากเอกชน
อย่างไรก็ตาม นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ผลกระทบเชิงลบ แม้การตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งสินค้าเข้าไปแทนที่จีนได้ แต่อาจส่งผลกระทบเชิงลบได้ในคราวเดียวกัน เนื่องจากอาจเกิดการหลั่งไหลของสินค้าไปยังตลาดส่งออกสำคัญ ของไทยได้ ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกสำคัญ รวมถึงสินค้าที่อาจทะลักเข้ามาในไทย หากจีนถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ จีนอาจส่งสินค้าดังกล่าวเข้าสู่ตลาดส่งออกสำคัญของไทย และอาจทำให้ไทย สูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้ โดยสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ นายฉันทานนท์ เผยว่า หากจีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากเท่าเดิม จีนอาจเพิ่มปริมาณการส่งออกมายังประเทศคู่ค้าอื่น รวมทั้งไทย โดยสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มนี้ ได้แก่ (1) เนื้อปลาแบบฟิลเลแช่เย็นจนแข็ง(2) กระเทียม (3) เนื้อปลาอลาสกาพอลล็อค แบบฟิลเลแช่แข็ง และ (4) เม็ดและเนื้อในของแอปริคอต ท้อ (รวมถึงเนกทารีน) หรือพลัม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยรวมถึงเกษตรกร โดยเฉพาะในสินค้า กระเทียม ที่อาจไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
ทั้งนี้ นายฉันทานนท์ เผยว่า ข้อเสนอแนะในระยะสั้นนั้น ไทยต้องรักษา พัฒนามาตรฐานการผลิต รวมถึงคุณภาพสินค้าในระดับสากล เพื่อรักษาความสามารถ ในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และ ต้องเร่งเจรจาเปิดตลาดสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและโอกาสทำการตลาดในสหรัฐฯ ในระดับรัฐต่อรัฐ รวมถึงศึกษาแนวโน้มความต้องการในตลาดสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต และผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ไทยควรปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทาง การค้าใหม่ ๆ เนื่องจากมาตรการทางภาษีกับจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจ ต้องกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะสหรัฐฯ และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจาก การตั้งกำแพงภาษีหรือนโยบายใหม่ ๆ ของสหรัฐฯ รวมถึงใช้ช่องทางทูตเกษตรในการรายงานสภาพปัญหาและร่วมวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไข ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะจีนที่มีปัญหาในสินค้าเกษตร
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 มกราคม 2568