ทรัมป์ 2.0 เริ่มแล้ว "ไทย" เกินดุล 3 หมื่นล้านเหรียญ
หลังการเข้าพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ปรากฏทรัมป์ได้ลงนามยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) 78 ฉบับที่เป็นการเพิกถอนคำสั่ง หรือแผนริเริ่มต่าง ๆ ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden)
รวมถึงการถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement), คำสั่งให้ทุกกระทรวงจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ, การดำเนินการเรียกพนักงานของรัฐบาลกลางกลับเข้าทำงาน, คำสั่งคืนเสรีภาพในการพูดและป้องกันไม่ให้รัฐบาลเซ็นเซอร์เสรีภาพในการพูดในอนาคต
การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดราคาพลังงานในประเทศลง นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งฝ่ายบริหารในการอภัยโทษให้กับผู้คนจำนวน 1,500 คน ที่ได้รับโทษจากการปิดล้อมอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ด้วย
แม้ว่าในวันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์จะยังไม่มีการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสหรัฐอย่างที่หวั่นเกรงกัน แต่ “ทรัมป์” ก็ได้สั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางที่เกี่ยวข้องไป “ศึกษา” นโยบายการค้าและประเมินความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านในทวีปอเมริกา
นั้นหมายความว่าการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” นั้น “จะมีขึ้นแน่นอน” หลังจากผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานผู้แทนทางการค้าสหรัฐ (USTR) ในข้อที่ว่า รายการสินค้าใดควรถูกขึ้นภาษีนำเข้า และการขึ้นภาษีนำเข้าจะใช้วิธีการใด
อาทิ การขึ้นภาษีพื้นฐานทั่วไป หรือการขึ้นภาษีแบบตอบโต้ทางการค้า ที่ต่างจะต้องมีเหตุผลรองรับ โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจะต้องไม่กระทบหรือกระทบน้อยที่สุดกับผู้บริโภคสหรัฐ โดยจะมุ่งไปที่สินค้าที่สหรัฐมีความสามารถในการผลิตภายในประเทศอยู่แล้ว
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ตกอยู่ในสถานะ “เป้าหมาย” ที่สหรัฐพร้อมที่จะดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย จากข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสินค้าไทย มีสัดส่วนประมาณ 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 ไทยส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 54,956.2 ล้านเหรียญ
ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคิดเป็นอันดับ 4 มีสัดส่วน 6% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 19,528.6 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฝ่าย “เกินดุล” การค้ากับสหรัฐอยู่ถึง 35,427.6 ล้านเหรียญ และการเกินดุลการค้าครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการเกินดุลเป็นปีแรก ๆ แต่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าสหรัฐต่อเนื่องติดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี (2561-2566)
ด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้ศึกษาสถิติการค้าไทย-สหรัฐย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีสินค้าไทยหลายรายการที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงจนทำให้สหรัฐตกเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับไทย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, โทรศัพท์มือถือ, ไดโอด-ทรานซิสเตอร์/อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลส์), ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่,
เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดคงที่, เครื่องพิมพ์ป้อนกระดาษเป็นม้วน, หม้อแปลงไฟฟ้า, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, เครื่องปรับอากาศ, แผงวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เพชร พลอย และรูปพรรณพร้อมส่วนประกอบ, เครื่องจักรไฟฟ้า, ตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง, เฟอร์นิเจอร์, ผลิตภัณฑ์จากไม้, ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมของโกโก้ และสินค้าเกษตร/แปรรูป
จนสามารถจำแนกออกมาได้ถึง 29 กลุ่มสินค้าที่มี “ความเสี่ยง” ที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้า ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับ หากถูกขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้นจนเกินความสามารถในการผลิตและแข่งขัน และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐหาวิธีการที่จะ “เจรจาต่อรอง” เพื่อรับมือการถูกขึ้นภาษี
ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีศุลกากรพื้นฐานโดยทั่วไป หรือการถูกขึ้นภาษีในลักษณะของการตอบโต้ทางการค้า ที่สามารถทำได้จาก กม.การค้าสหรัฐฉบับปัจจุบัน หรือการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) โดยอ้างเหตุผลที่เป็นเงื่อนไขการได้รับสิทธิ GSP แบบที่เคยทำมาแล้วในสมัยทรัมป์ 1 ก็เป็นไปได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 22 มกราคม 2568