ไนจีเรียปรับฐาน CPI ดันเงินเฟ้อลดเหลือ 24.48% ใน ม.ค. 2568
สำนักงานสถิติแห่งชาติไนจีเรีย (NBS) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 24.48 ลดลงจากร้อยละ 34.80 ในเดือนธันวาคม 2567 หลังปรับฐานปีอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (Comsumer Price Index) หรือ CPI จากปี 2552 เป็น 2567 พร้อมปรับปรุงตะกร้าสินค้าให้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน
การปรับฐาน CPI เป็นการเปลี่ยนปีฐานในการคำนวณดัชนีราคา จากเดิมใช้ปี 2552 เป็น 2567 ทำให้สามารถเปรียบเทียบราคาปัจจุบัน (2568) กับปีก่อนหน้า (2567) แทนการเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นเวลา 14 ปี
ซึ่งปรับองค์ประกอบตะกร้าสินค้าให้รวมภาคเศรษฐกิจใหม่และสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อจริงในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยี หรือ บริการดิจิทัล ซึ่งช่วยให้การวัดเงินเฟ้อมีความแม่นยำขึ้น
ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อหลังปรับฐาน ด้านอาหาร ร้อยละ 26.08 (ลดจากร้อยละ 39.84) ดัชนีพื้นฐาน (ไม่รวมเกษตรและพลังงาน) ร้อยละ 22.59 (ลดจากร้อยละ 29.28) เขตพื้นที่เมือง ร้อยละ 26.09 (ลดจากร้อยละ 37.29) เขตพื้นที่ชนบท ร้อยละ 22.15 (ลดจากร้อยละ 32.47)

ซึ่งตามหลักการของสหประชาชาติ ควรปรับฐาน CPI ทุก 5-10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ไนจีเรียไม่ปรับฐานมา 15 ปี ทำให้ข้อมูลเดิมไม่สะท้อนความเป็นจริง
ทั้งนี้ NBS ชี้ว่า การลดลงของตัวเลขเงินเฟ้อเกิดจากการเปรียบเทียบกับปีฐานใกล้เคียง (2567) แทนปี 2552 ที่เศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าลดลงจริง อีกทั้งการปรับ CPI ครั้งนี้มุ่งเน้นความถูกต้องตามหลักสถิติสากล ไม่ได้บิดเบือนข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ แม้ตัวเลขเงินเฟ้อของไนจีเรียดูดีขึ้นจากการปรับฐาน แต่เศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ดังนี้
* เงินไนราอ่อนค่า สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าต่อดอลลาร์สหรัฐกว่าร้อยละ 40 ในปี 2566 ส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาแพง
* ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และความไม่มั่นคงในภาคเกษตรยังคงกระทบต้นทุน
* นโยบายการคลังขยายตัว การอุดหนุนพลังงานและโครงการภาคสังคมช่วยเพิ่มปริมาณเงินในระบบ
ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2567 แสดงให้เห็นว่า ไนจีเรียมีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) โดยประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกามีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า เช่น กานา มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 23.2 และเซเนกัล ร้อยละ 7.2 ซึ่งการปรับฐาน CPI ช่วยให้ไนจีเรียมีเครื่องมีวัดตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยขึ้น แต่การแก้ปัญหาเงินเฟ้อต้องอาศัยนโยบายเชิงรุกของภาครัฐ ได้แก่
* เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยลดการพึ่งพาการนำเข้า
* ปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน
* เสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเพื่อฟื้นฟูการลงทุน
ขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังมองว่า การเปิดเผยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อใหม่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่ชัด คือ ต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะคลี่คลาย ทั้งนี้ ดร. Jonathan Eger นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลากอสกล่าวว่า การปรับฐาน CPI ดังกล่าวเป็นเรื่องดี
แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขเงินเฟ้อร้อยละ 24 ยังสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ รัฐต้องเร่งควบคุมราคาอาหารและพลังงานให้เร็วที่สุด อีกทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ไนจีเรียอาจเผชิญเงินเฟ้อเกินร้อยละ 30 ในปี 2568 หากไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 18.75) (ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา)
ที่มา globthailand
วันที่ 3 มีนาคม 2568