สปป. ลาว เริ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 กรมส่วยสาอากร (กรมสรรพากร) กระทรวงการเงิน สปป. ลาว ได้เปิดตัวโครงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการต่างประเทศ โดยหัวหน้ากรมส่วยสาอากร กระทรวงการเงิน รายงานว่า
(1) การดำเนินการเก็บค่าใช้จ่ายจากการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาล สปป. ลาว
(2) กรมส่วยสาอากรเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่ทำการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสินค้าที่จับต้องไม่ได้แล้วตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งถือเป็นแหล่งรายรับใหม่ที่สำคัญของ สปป. ลาว
(3) กรมส่วยสาอากรกำหนดนิติกรรม (กฎหมาย) ในการคุ้มครอง (กำกับดูแล) การเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยเริ่มต้นศึกษาแนวทางการกำหนดนิติกรรม (กฎหมาย) ตั้งแต่ปี 2564 และเปิดให้ภาคเอกชนต่าง ๆ ขึ้นทะเบียนในปี 2567
(4) กระทรวงการเงินได้พัฒนาระบบเพื่อให้นิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใน สปป. ลาว ขึ้นทะเบียน แจ้งและจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ TaxRIS ในระบบ DTax ของกระทรวงการเงิน ซึ่งรองรับ 2 ภาษา (ลาว/อังกฤษ)
(5) สำหรับการแจ้งและจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแบบออนไลน์นั้น จะต้องแจ้งภาษีทุก ๆ 4 เดือน ต่างจากการแจ้งภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ทั้งนี้ สามารถจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มได้ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ (ก) Wire Transfer ผ่านการโอนเงินต่างประเทศ และ (ข) ผ่าน Payment Gate Way (Credit card, Master card) ด้วยระบบ DTax
(6) นับตั้งแต่เปิดใช้งานระบบการจัดเก็บภาษีในช่วงปีที่ผ่านมา มีนิติบุคคลต่างประเทศขึ้นทะเบียนเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้วกว่า 30 บริษัท โดยในกลุ่มนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มีบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงประกอบด้วย Microsoft, Netflix, Google, Booking.com, Tiktok และ Meta ซึ่งมีแอปพลิเคชันให้บริการในเครือ ได้แก่ Facebook, Instagram และ Whatsapp
จากข้างต้น สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ประเมินว่า
(1) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มจะช่วยให้รัฐบาลสามารถบริหารการจัดเก็บรายได้ของรัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มรายรับให้รัฐบาล สปป. ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาการเงินการคลัง ปัญหาเศรษฐกิจและเพิ่มงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
(2) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มย่อมส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งนิติบุคคลและบริษัทต่างประเทศอาจต้องพิจารณาปรับราคาสินค้าและบริการ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าครองชีพของผู้บริโภคภายในประเทศในระยะต่อไปได้ และ
(3) ในส่วนของผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในเบื้องต้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบในทางตรง เนื่องจากธุรกิจออนไลน์ของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้ารายย่อย (อุปโภคบริโภค) ที่มีการขนส่งทางชายแดนผ่านบริษัทขนส่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นการดำเนินธุรกิจโดยเจ้าของธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์โดยตรง
อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ จะประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนไทย/สมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป. ลาว รับทราบข้อมูลการเปิดใช้งานระบบการจัดเก็บภาษีฯ ข้างต้นจากการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มของ สปป. ลาว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงทะเบียนและดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบของ สปป. ลาว ต่อไป (ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์, เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 4 มีนาคม 2568