จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (2)
จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
นับแต่การออกกฎหมายเมล็ดพันธุ์ เมื่อปี 2000 การพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ของจีนก็ดีขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของข้าวและข้าวสาลีที่ได้รับผลอย่างน่าพึงพอใจ แต่การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของจีน ก็ยังไม่อาจแผ่ซ่านอย่างทั่วถึง ทั้งในเชิงความหลากหลายของพืชผัก สภาพอากาศ และมิติเชิงลึกอื่น เราไปคุยกันต่อเลยครับ
ผู้เชี่ยวชาญในวงการประเมินว่า ขีดความสามารถในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ผัก และ ผลไม้ บางสายพันธุ์ของจีน ก็ยังล้าหลังในระดับระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรจีน ยังคงต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ที่มีราคาแพงกว่ามาก จนสร้างความประหลาดใจในการขาดความหลากหลายของเชื้อพันธุ์แก่ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเลยก็มี
ยกตัวอย่างเช่น เมล็ดผักกาดขาวจากเกาหลีใต้ มีราคาสูงกว่าของจีน ถึงราว 20 เท่า แต่ในเชิงธุรกิจ หัวผักกาดของเกาหลีใต้ ก็ยังคงสามารถทำตลาดจีนได้ ด้วยรูปลักษณ์ที่ดีและเนื้อสัมผัสที่ชุ่มฉ่ำกว่า ขณะที่กีวีฟรุ๊ตที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่จีน ก็กลายเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของนิวซีแลนด์ งานหนักเลยตกไปอยู่ในมือของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน
โดยที่จีนตระหนักดีว่า บริษัทวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของการผลิตเมล็ดพันธุ์ ดังนั้น ในช่วงหลายปีหลัง จีนจึงได้พยายามผลักดันและส่งเสริมให้กิจการที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพื่อหวังเพิ่มอุปทานเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง และลดการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศอย่างยั่งยืน
และเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จีนจึงได้ดำเนินแคมเปญรณรงค์การกระตุ้นอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ นับแต่ปี 2021 โดยผลักดันผ่านองค์กรภาครัฐ และเอกชนควบคู่กันไป จนนำไปสู่ความก้าวหน้าและความสําเร็จครั้งสําคัญในเวลาต่อมา
โดยในส่วนของภาครัฐ นอกจากนโยบายอาหาร 3 ด้านดังกล่าวแล้ว ในช่วงที่ผู้นำจีนจะต่อวาระที่ 3 ของการดำรงตำแหน่ง จีนยังกำหนดนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบท (Rural Revitalization) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและภาคการเกษตรโดยตรง
ดังจะเห็นได้ว่า จีนได้หันมาให้ความสำคัญกับการต่อยอดการพัฒนาผ่านศูนย์วิจัยและเพาะเมล็ดพันธุ์ สวนอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ หรือ แม้กระทั่งศูนย์ต้นกล้าอัจฉริยะ กระจายอยู่ในหลายพื้นที่การเกษตรสำคัญของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติมพลังให้กับ “สถาบันวิจัยหนานฟานแห่งชาติ” (National Nanfan Research Institute) เมืองซานย่า (Sanya) มณฑลไฮ่หนาน ทางตอนใต้ของจีน
สถาบันฯ แห่งนี้ถูกออกแบบใหม่ เพื่อพัฒนาเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” สําหรับการเกษตรที่ครอบคลุมการวิจัย การผลิต การขาย การแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงผลการวิจัยเพื่อประโยชน์โดยรวม ซึ่งถือเป็น “ต้นแบบ” ของความสำเร็จในการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว
ปี 2021 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญหลายประการ ประการแรก ปีดังกล่าวถือเป็นปีครบรอบ 2 ทศวรรษของการเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ของจีน และอีกประการหนึ่งก็ถือเป็นปีแห่งการเปิดเสรีตลาดเมล็ดพันธุ์ภายในประเทศ
จีนได้ปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับเศรษฐกิจตลาด และสร้างระบบกฎหมายที่สอดคล้องกับระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO อาทิ การคุ้มครองพืชพันธุ์ใหม่ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องทางการค้า ประการสำคัญ จีนยังปรับปรุงกฎหมายเมล็ดพันธุ์ฉบับปี 2000 อย่างถี่ยิบ อาทิ ในปี 2004 ปี 2013 ปี 2016 และปี 2021
การแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง ตามมาด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการรับรองเมล็ดพันธุ์ อาทิ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ผัก และ ดอกไม้ ขั้นตอนพิธีการและช่องทางการรับรองเมล็ดพันธุ์ได้รับการปรับปรุงให้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์ของจีนผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในระดับชาติและมณฑล
ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนได้จัดตั้งฐานเมล็ดพันธุ์แห่งชาติจำนวน 3 แห่งที่มณฑลกานซู่ เสฉวน และ ไฮ่หนาน เมื่อปี 2012 ขณะที่การทำตลาดเมล็ดพันธุ์ ก็มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก กล่าวคือ จีนได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 ยอดขายและผลกำไรมหาศาลจากธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ดึงดูดบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้มีบริษัทเมล็ดพันธุ์จดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน เรายังเห็นกิจการเมล็ดพันธุ์ของจีนทะยานขึ้นสู่ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2017 ชิโนเคม (ChinaChem) ได้เข้าซื้อกิจการซินเจนต้า (Syngenta) ซึ่งเคยเป็นบริษัทยาฆ่าแมลงที่ใหญ่ที่สุด และธุรกิจเมล็ดพันธุ์อันดับ 3 ของโลก ส่งผลให้บริษัทที่ควบรวมกลายเป็น 1 ใน 4 บริษัทธุรกิจการเกษตรชั้นนำของโลก
ในปี 2018 หลงผิงไฮเทค (Longping High-Tech) บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นนำของจีน ที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ผสม ยังก้าวขึ้นติดท๊อป 10 กิจการเมล็ดพันธุ์ของโลก และคาดว่าจะทะยานสู่ท๊อป 5 ของโลกภายในปี 2025
อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ นับแต่ปี 2021 จีนก็เดินหน้าแคมเปญกระตุ้นอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ผ่านการยกระดับศักยภาพของสถาบันฯ ด้วยมาตรการสนับสนุนทางการเงิน การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญ การสร้างระบบ และอื่นๆ อย่างรวดเร็ว จนทำให้สถาบันฯ ยกระดับความพร้อม และขีดความสามารถในหลายด้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บตัวอย่างเชื้อพันธุ์ถึง 1.5 ล้านรายการ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถาบันฯ แห่งนี้จัดตั้ง “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” ที่มีระบบการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธ์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก โดย ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 30% ของจำนวนเชื้อพันธุ์ที่รวบรวมไว้
และในจํานวนนี้ ถั่วเหลืองถือเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุด โดยมีการรวบรวมเชื้อพันธุ์ไว้เกือบ 10,000 รายการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของจีนในการเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองสำคัญของโลกในระยะยาว และคาดว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการด้านการอนุรักษ์เชิงกลยุทธ์ในอีก 50 ปีข้างหน้า
อีกจุดเด่นของสถาบันฯ ก็คือ การพัฒนาความร่วมมือกับหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์พืชผล (Crop Sciences Institute) และสถาบันดาโม (DAMO Academy) เครือข่ายด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของอาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ
ทำให้สถาบันฯ แห่งนี้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับความต้องการ และแนวทางการทํางานที่รวบรวมทรัพยากรจากธุรกิจ ทุนทางสังคม และ สถาบันการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งยังนำเอานวัตกรรมไฮเทค มาประยุกต์ใช้ในการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ และการเพิ่มประสิทธิภาพประสานเข้ากับโมเดลขนาดใหญ่และพลังของการประมวลผลผ่านเครื่องมือและอุปกรณ์ดิจิตัล
อาทิ การติดตั้งหน่วยถ่ายภาพแบบแยกส่วน การสแกนเลเซอร์ 3 มิติ และการถ่ายภาพอินฟราเรดความร้อน โดยแพลตฟอร์มมีเอไอที่สามารถรวบรวมข้อมูลความสูงของพืช รูปร่างใบ และลักษณะอื่นๆ แบบเรียลไทม์ ทำให้นักวิจัยของสถาบันฯ สามารถติดตามการเติบโตของพืชจากระยะไกลได้ตลอดวงจรการเจริญเติบโต
องค์กรวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของภาครัฐดังกล่าว ทำอะไรเป็นรูปธรรมอีกบ้าง และก่อประโยชน์อย่างไร เราไปอ่านกันต่อในตอนหน้าครับ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2568