รายงานสอบสวนการค้า ชี้ชะตาสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ปักกิ่งส่งบทความหวังเปลี่ยนลิขิตทรัมป์
5 ปีก่อน สี จิ้นผิง ผู้นำจีนบรรลุดีลการค้ากับโดนัลด์ ทรัมป์ ตอนดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรก และในขณะนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐมีกำหนดส่งรายงานผลการสอบสวน 2 เดือน เกี่ยวกับการปฏิบัติตามดีลเฟสแรกของจีนที่กำหนดให้จีนซื้อสินค้าสหรัฐเพิ่ม 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.8 ล้านล้านบาท) เพื่อแก้ไขการค้าที่ไม่เป็นธรรมและไม่สมดุล ซึ่งหากดูตามตัวเลขทางการแล้ว แสดงว่า จีนพลาดเป้า โดยจีนนำเข้าเพียงราว 63% ของเป้าหมาย
นอกจากนี้ หัวหน้าการค้าสหรัฐจะประเมินประเด็นปัญหาอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการถอนจีนออกจากสถานะการค้าปกติ เหล่านี้เป็นความเคลื่อนไหวที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่าเทียบเท่าการเก็บภาษีจีน 30%
การทบทวนตรวจสอบตาม “นโยบายการค้าของอเมริกาต้องมาก่อน (The America First Trade Policy)” ซึ่งทรัมป์สั่งการในวันแรกที่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งสมัยสอง อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนที่มีมูลค่า 690,000 ล้านดอลลาร์ (23.5 ล้านล้านบาท) ในปีที่แล้ว ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ของสหรัฐ จะเผยแพร่รายงานผลการสืบค้นข้อเท็จจริงทางออนไลน์หรือไม่ หรือจะนำเสนอเป็นการส่วนตัวต่อทำเนียบขาวแทน โดยคำแนะนำในรายงานจะนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านภาษีศุลกากรและนโยบายอื่น ๆ ในอนาคต
เหอ เว่ยเหวิน อดีตที่ปรึกษาด้านการค้าประจำคณะผู้แทนทางการทูตจีนในนครนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ทรัมป์จะใช้ผลการตรวจสอบเป็นภัยคุกคามเพื่อกำหนดภาษีศุลกากรเพิ่มเติมต่อจีน หากสหรัฐเพิกถอนสถานะการค้าปกติถาวรของจีน นั่นก็เพียงพอที่จะทำลายการค้าได้แล้ว
รายงานมีกำหนดส่งเดดไลน์ 1 เมษายน หนึ่งวันก่อนการเรียกเก็บภาษีต่างตอบโต้ต่อหุ้นส่วนการค้าสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มรวมถึงจีนที่ทรัมป์เตรียมประกาศในสวนกุหลาบของทำเนียบขาวในวันถัดมา คือ 2 เมษายน เวลาราว 16.00 น. ซึ่งตรงกับ 3 เมษายน เวลาไทย และในวันเสาร์นี้ (5 เมษายน) ถึงกำหนดเส้นตายที่บริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance Ltd.) บริษัทเทคโนโลยีจีนจะต้องบรรลุข้อตกลงในการโอนแพลตฟอร์มวิดีโอติ๊กต๊อก (TikTok) ให้บริษัทอเมริกัน เนื่องจากสหรัฐกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยทรัมป์ได้ยื่นทางเลือกในการลดภาษีนำเข้าเพื่อแลกกับการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนดีลติ๊กต๊อกดังกล่าว
“สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ที่สำคัญที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง” นายคริสโตเฟอร์ เบดดอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจีน ที่เจฟกัล ดราก้อนโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) บริษัทวิจัยเศรษฐกิจระดับโลกในฮ่องกงกล่าว “เคสเบสิกคือ ในที่สุดแล้ว ข้อตกลงนี้จะจบลงด้วยข้อตกลงที่ดูเหมือนเป็นการหยุดยิงชั่วคราวมากกว่าข้อตกลงใหญ่”
เจ้าหน้าที่ของประเทศจีนเตือน นายจามีสัน กรีเออร์ หัวหน้าฝ่ายการค้าของสหรัฐ ในการหารือทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลจีนจะตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากทรัมป์กดดันต่อไปด้วยมาตรการภาษีต่างตอบโต้ ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การหารือที่ตึงเครียดเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อร่วมประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีโอกาสได้พูดคุยแบบตัวต่อตัวกับทีมงานของทรัมป์เป็นครั้งแรก
นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี กรุ๊ป (Citigroup Inc.) ระบุว่า แม้ว่าภาษีศุลกากรต่างตอบโต้หรือตามเซ็กเตอร์อาจมีความเกี่ยวข้องน้อยลงสำหรับจีน แต่การทบทวนนโยบายการค้าตามนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนเพียงลำพัง อาจนำไปสู่การขึ้นภาษีศุลกากรอีก 10-20% กับจีน ก่อนที่จะตกลงเจรจาจนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก
บรรดานักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้กล่าวอีกว่ารัฐบาลจีนจะตอบสนองด้วยวิธีที่ยับยั้งชั่งใจและจำกัดขอบเขต เช่น การกำหนดภาษีศุลกากรแบบกำหนดเป้าหมายกับสินค้าของสหรัฐมากขึ้น การขยายการควบคุมการส่งออกแร่ที่สำคัญ การเพิ่มบริษัทอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศเข้าไปในรายชื่อนิติบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ และการสอบสวนการดำเนินงานในจีนของบริษัทสหรัฐ
การเจรจาใด ๆ ก็ตามน่าจะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการที่ยาวนาน ซึ่งในสงครามการค้าครั้งแรก การเจรจาก็ยืดเยื้อมาหลายปี ทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน และสร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของทั้งสองประเทศ ข้อตกลงสุดท้ายทำให้จีนต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพยายามแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้ากับสหรัฐ แต่ข้อตกลงล่มเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเวลาไม่นาน ซึ่งหลังจากนั้นทำให้การค้าโลกพลิกผัน
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup มีมุมมองในแง่ลบน้อยลง โดยกล่าวว่าข้อตกลง “ระยะที่สอง” ยังคงเป็นไปได้ในแผนระยะกลาง สหรัฐอาจมีจุดยืนที่อ่อนลง เนื่องจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและการเติบโต และผู้กำหนดนโยบายของจีนอาจตกลงประนีประนอม เช่น การปรับปรุงการควบคุมยาเสพติด ที่ทรัมป์ต้องการให้จีนจัดการการหลั่งไหลของเฟนทานิลและการซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานบทความที่เผยแพร่ในพีเพิล เดลี่ (People’s Daily) เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายนระบุว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐนำมาซึ่ง “ผลประโยชน์ที่จับต้องได้” สำหรับทั้งสองฝ่าย โดยตอบสนองความต้องการของจีนและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรสหรัฐ ทั้งนี้ บทความดังกล่าวให้เครดิตผู้เขียน Zhong Sheng ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงในภาษาจีนที่หมายถึง “เสียงของจีน” ซึ่งมักใช้เพื่อกำหนดมุมมองนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจีน
บทความนี้เป็นบทความที่สองในชุดบทความวิจารณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่าจะตรงกับเวลาที่ประธานาธิบดีสหรัฐมีแผนที่จะเก็บภาษีต่างตอบโต้ในวันที่ 2 เมษายน
“บทความนี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของจีนในการหลีกเลี่ยงการกำหนดภาษีศุลกากรของทรัมป์ต่อจีน โดยหวังว่าจะเปลี่ยนใจได้” จอห์น กง อดีตที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ของจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง กล่าว แต่เขาคิดว่าบทความนี้ยังคงไม่ได้รับการตอบรับจากทรัมป์
ในส่วนบทความแรกระบุว่า บริษัทเทสลาและแอปเปิล เป็นตัวอย่างของตลาดและศักยภาพด้านการผลิตที่กว้างใหญ่ของจีนที่ทำให้จีนกลายเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้ของบริษัทสหรัฐ บทความดังกล่าวใช้โทนการปรองดอง โดยเรียกร้องให้จีนและสหรัฐร่วมมือกันมากขึ้น แม้ว่าจะมีคู่แข่งก็ตาม
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการสอบสวนคือการปั่นค่าเงิน จีนถูกนักการเมืองสหรัฐกล่าวหามานานแล้วว่ารักษาระดับค่าเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์ให้ต่ำอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออก แต่เช่นเดียวกับภาษีนำเข้า ครั้งนี้ จีนจะไม่ใช่ประเทศเดียวที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐได้เพิ่มเกาหลีใต้ใน “รายชื่อติดตามการตรวจสอบ” สำหรับการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และเยอรมนี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2568