"ทรัมป์" บีบ "ไทย" เพิ่มสัดส่วน Local Content ขึ้นบัญชี 49 สินค้าแอบอ้างถิ่นกำเนิด
การแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อประกอบและส่งผ่าน (Transshipping Goods) ประเทศที่สามไปยังประเทศปลายทาง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีในอัตราสูง ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ 1 ใน 2 เรื่องที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ทำจดหมายถึงประเทศคู่ค้า ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือก่อนที่จะถึงเส้นตายในการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) หลังวันที่ 9 กรกฎาคม แม้ว่าทรัมป์จะยอมขยายระยะเวลาการเก็บภาษีมาเป็นหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2568 แล้วก็ตาม
สินค้าแอบอ้างถิ่นกำเนิด :
เฉพาะจดหมายที่ส่งถึงรัฐบาลไทยระบุว่า หลังวันที่ 1 สิงหาคม ประเทศไทย จะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 36% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศในวันที่ 2 เมษายน 2568 หรือเท่ากับว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เปิดทางให้มีการเจรจาทางการค้าเพื่อลดภาษีตอบโต้ลงมานั้น ประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา โดยข้อเสนอของฝ่ายไทยที่จะลดการได้ดุลการค้าสหรัฐลงนั้น “ยังไม่เป็นที่น่าพอใจในความเห็นของรัฐบาลสหรัฐ” เนื่องจากไทยยังมีการใช้มาตรการภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี การใช้นโยบายอันส่งผลให้เกิดกำแพงทางการค้ากับสินค้าสหรัฐโดยตรง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็น “ต้นทาง” ของการส่งผ่านสินค้าจากประเทศที่สาม (Transshipped) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง (AD-CVD) ด้วยการนำวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าเข้ามาประกอบหรือแปรสภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าจากประเทศไทยส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ โดยพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สินค้าจีนหลายรายการที่ส่งเข้าไปในตลาดสหรัฐตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ 1 ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนย้ายโรงงานเข้ามาประกอบสินค้าในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย และเวียดนาม และทำการส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอีกทีหนึ่ง

ใน จม.ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งถึงรัฐบาลไทย ได้ประกาศที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าที่ทำการส่งผ่าน (Goods Transshipped to Evade a Higher Tariff) ในลักษณะนี้จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่า 36% ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษี Transshipping Goods เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ ประเทศเวียดนาม ถูกเรียกเก็บในอัตราภาษีสูงถึง 40% เพื่อสกัดกั้นหรือปิดล้อมไม่ให้สินค้าจีนสามารถใช้วิธีแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าโดยเข้ามาตั้งโรงงานประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสูงเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐได้
โดยวิธีการหลีกเลี่ยงนี้ สหรัฐอ้างว่าได้สร้างความเสียหาย เป็นการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านี้เป็นจำนวนมาก
49 สินค้าในบัญชีเฝ้าระวัง :
ที่ผ่านมาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีสินค้าจีนที่แอบอ้างถิ่นกำเนิดในไทย เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง เกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว หลังศุลกากรสหรัฐได้ตั้งข้อสงสัยว่า สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากไทยนั้น แท้จริงเป็นสินค้าจากจีน หรือประเทศอื่นนำเข้าวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบสำเร็จเข้ามาประกอบเพื่อส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐ โดยสินค้าเหล่านี้มักจะถูกเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดจากประเทศต้นทางในอัตราสูง อาทิ สินค้าในกลุ่มแผงโซลาร์ สินค้ากลุ่มข้อต่อท่อเหล็ก น้ำผึ้ง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาตรวจสอบการแอบอ้างถิ่นกำเนิด
เป็นผลทำให้ กรมการค้าต่างประเทศ ต้องออกบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าในการส่งออกไปยังสหรัฐเป็นการเฉพาะมาตั้งแต่ปี 2565 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ศุลกากรสหรัฐ กับกรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากรไทย ล่าสุดมีการกำหนดรายการสินค้าที่ต้องทำการเฝ้าระวังไว้ 49 รายการ และจะเพิ่มขึ้นในอีก 5 กลุ่มสินค้า โดยสินค้าแอบอ้างถิ่นกำเนิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพิกัดเหล็กและอะลูมิเนียม, ชิ้นส่วนรถยนต์, แผงวงจร, ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, แผงโซลาร์เซลล์ และยางรถยนต์
โดยสินค้าที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Non-Preferential Certificate of Origin) สำหรับสินค้าเฝ้าระวัง ด้วยการให้ผู้ส่งออก/ผู้ผลิตสินค้าต้องแสดง
1) เอกสารหลักฐานที่แสดงว่าประกอบกิจการผลิตสินค้าที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจ
2) เอกสารหลักฐานแสดงกระบวนการผลิตสินค้า
3) เอกสารหลักฐานที่แสดงการซื้อขายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า อาทิ ใบกำกับสินค้า (Invoice)/เอกสารการชำระเงินค่าวัตถุดิบภายในประเทศ กับใบกำกับสินค้า (Invoice)/ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)/ใบรายการหีบห่อสินค้า (Packing List)/ใบขนสินค้าขาเข้ากรณีที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศหรือวัตถุดิบที่ไม่ทราบแหล่งที่มา และ
4) เอกสารหลักฐานอื่นที่จำเป็นต่อการตรวจคุณสมบัติของสินค้า ให้กับกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้นำเข้าหรือไม่ และจะแจ้งผลการตรวจสอบสินค้าให้ผู้ส่งออกเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อไป
สำหรับการ “เพิกถอน” ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของสินค้าตามบัญชีเฝ้าระวัง จะกระทำได้ต่อเมื่อ 1) มีการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าด้วยวิธีการใด ๆ โดยไม่เป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้นำเข้า 2) ข้อมูลการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงไปจนเป็นเหตุให้คุณสมบัติของสินค้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้นำเข้า
นั่นหมายความว่า ผู้ส่งออกจะไม่มีหลักฐานเพื่อขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ได้ อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาเพื่อขอลดภาษีตอบโต้ทางการค้า (Reciprocal) ระหว่างไทยกับสหรัฐล่าสุด สหรัฐยังเห็นว่า มาตรการตรวจสอบจากบัญชีเฝ้าระวังที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันยังมี “ช่องโหว่” ให้มีสินค้าจากจีน หรือประเทศอื่นส่งผ่านเข้าไปยังตลาดสหรัฐได้
ความยุ่งยากของ Local Content :
ในประเด็นนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยกล่าวว่า ในการเจรจาเพื่อลดภาษีตอบโต้กับฝ่ายสหรัฐนั้น 1 ใน 3 หลักการสำคัญก็คือ การป้องกันการสวมสิทธิสินค้า โดยสหรัฐต้องการให้ไทย “เพิ่ม” การใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local Content) จนกลายเป็นโจทย์ที่ต้องดูว่า “สหรัฐจะกำหนดสัดส่วน Local Content ที่เท่าไหร่ อาจจะเพิ่มจาก 40% เป็น 60-70% ที่เป็นต้นทุนที่จะใช้ Local Content ในประเทศไทย หรือจากประเทศต่าง ๆ ที่สหรัฐกำหนดมากขึ้น” นายพิชัยกล่าว
ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า การเจรจาเพื่อทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐในเรื่องของการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าจากประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเข้าตลาดสหรัฐนั้น มีความชัดเจนในข้อที่ว่า 1) สหรัฐจะเป็นผู้เสนอตัวเลข Local Content หรือการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อ “สกัดกั้น” มิให้สินค้าจากจีนหรือประเทศอื่นเข้ามาสวมสิทธิเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐได้
ในอีกด้านหนึ่งหากการเพิ่มสัดส่วน Local Content บวกกับมาตรการตรวจสอบรายการสินค้าตามบัญชีเฝ้าระวังของกรมการค้าต่างประเทศ ยังไม่สามารถสกัดกั้นการไหลบ่าเข้ามาของสินค้าสวมสิทธิแอบอ้างแหล่งกำเนิดจากกลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐก็พร้อมที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าเหล่านี้ในอัตราที่สูงขึ้นไปอีกจากอัตราภาษีตอบโต้ ซึ่งกรณีนี้ เวียดนาม แม้จะบรรลุข้อตกลงเพื่อลดภาษีตอบโต้ลงเหลือ 20% แต่จะถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้า Transshipping Goods สูงถึง 40% ทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วน Local Content ตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ ในทางปฏิบัติจะต้องมีการเจรจากันในรายละเอียดกันต่อไป เนื่องจากภายใต้ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณหรือตัดสินว่า สินค้ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศใด
ในประเด็นนี้ปัจจุบันมีสินค้าที่มีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบการผลิตภายในประเทศหรืออาเซียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่า FOB หรือเป็นสินค้าที่มีการเปลี่ยนพิกัดอัตราภาษีศุลกากร (Change in Tariff Classification) ในระดับ 4 หลัก (Change in Tariff Heading : CTH) อย่างที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำลังจะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนกับสินค้าประเภท ชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี Transshipping Goods และป้องกันมิให้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนที่มุ่งหวังที่จะแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย เพื่อส่งสินค้าเข้าไปในตลาดสหรัฐ
แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่า กฎสัดส่วนมูลค่าการผลิต (% of Regional Value Content/Local Content) ที่ประเทศไทยใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาในปัจจุบัน มีความแตกต่างกันไปในแต่ละความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยตกลงกับประเทศคู่ค้า อาทิ อาเซียนใช้ 40% + PSR (Product Specific Rule), อาเซียน-จีน 40% + PSR, อาเซียน-เกาหลี 40% + PSR, อาเซียน-อินเดีย 35%, อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ 40% + PSR, อาเซียน-ญี่ปุ่น ใช้ PSR, ข้อตกลงไทย-ออสเตรเลีย ใช้ PSR, ข้อตกลงไทย-อินเดีย ใช้ PSR, ข้อตกลงไทย-นิวซีแลนด์ใช้ 50%, ข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่น ใช้ PSR และข้อตกลงไทย-เปรู 35%
ดังนั้น การเพิ่มสัดส่วน Local Content ในกรณีของสหรัฐที่อาจใช้ตัวเลขสัดส่วน 40% เป็น 60-70% อาจจะเป็นสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หรือในอาเซียนสูงที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน ที่บางอุตสาหกรรมยังไม่สามารถเพิ่ม Local Content ในสัดส่วนที่มากกว่า 50% เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นของสหรัฐนั้น ในประเด็นนี้ก่อนที่จะถึงเส้นตายการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ขยายให้จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม คณะเจรจาฝ่ายไทย-สหรัฐอาจจะไม่สามารถตกลงในรายละเอียดที่จะใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาได้
แต่มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการตกลงกันในกรอบหรือหลักการและเปิดให้มีการเจรจากันต่อไป ภายใต้อัตราภาษีที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากกรณี Transshipping Goods อัตราใดอัตราหนึ่งที่ไม่ต่ำกว่า 36%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 17 กรกฏาคม 2568