กูรูยันบาทแข็งต่อเนื่อง ไม่ฉุดส่งออก ไทยยังสามารถแข่งขันได้
กูรูยัน เงินบาทแข็งต่อเนื่อง ไม่ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สะท้อนจากดัชนีค่าเงินทั้ง NEER และ REER ยังหนุนสินค้าไทย ด้านบล.ฟินันเซียไซรัสแนะ ใช้จังหวะบาทแข็ง นำเข้าลดเกินดุลสหรัฐในอนาคต
เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า จะเป็นปัจจัยช้ำเติมเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ยังสูงถึง 36% ขณะที่กรอบเวลาในการเจรจาเหลือน้อยเต็มทีก่อนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่สิ้นปีถึงปัจจุบันพบว่า เงินบาทแข็งค่า 4.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (คำนวณจาก 32.50 กับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งการใช้เปอร์เซ็นต์ “แข็งค่า หรือ อ่อนค่า” ของเงินบาทไปเทียบสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย/ประเทศอื่นๆ อาจจะดูได้เพียงด้านเดียว
หากจะวัดความสามารถในการส่งออกของไทย หรือจะดูความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยกับคู่ค้าและคู่แข่งจำเป็นต้องพิจารณาดัชนีค่าเงิน(Nominal Effective Exchange Rate หรือ NEER) และดัชนีค่าเงินที่แท้จริงดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate Index หรือ REER) จะสะท้อนความสามารถของสินค้าไทยได้ดีกว่า

ทั้งนี้เพราะดัชนี NEER เป็นการเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าและคู่แข่งของไทยประมาณ 25 สกุลเงิน และดัชนี REER จะดูระดับราคาเปรียบเทียบระหว่างไทยกับคู่ค้าและคู่แข่งด้วย คือ นำค่าความแตกต่างของระดับราคา/ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อ ปรับในการคำนวณเพื่อให้ดัชนี REER สะท้อนอำนาจซื้อที่แท้จริงและความสามารถของสินค้าได้ดีขึ้น
ดังนั้นหากเทียบระดับราคา/เงินเฟ้อมาพิจารณาร่วมด้วย ดัชนี REER จะต่ำกว่าช่วงสิ้นปีที่แล้ว เห็นได้จากดัชนี REER ของไทยเดือนพ.ค.2568 อยู่ที่ 106.04 อ่อนค่าลง 0.9% เมื่อเทียบสิ้นเดือนธ.ค.ปีที่แล้วอยู่ที่ 107.04
สะท้อนว่า สถานการณ์บ้านเรา จริงๆไม่ได้แย่/ ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านค่าเงิน
ขณะที่ดัชนี NEER เดือนมิ.ย.ปีนี้อยู่ที่ 128.01 เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 67 อยู่ที่ 127.13 แต่การคำนวณดัชนี NEER ได้มีการตัดบางสินค้าออก เพื่อถ่วงน้ำหนักสกุลเงินต่างๆ ในการคำนวณค่าดัชนีคือ ราคาทองคำ ซึ่งระยะหลังๆ เงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า วิ่งตามทิศทางของราคาทองคำ ดัชนี NEER จึงออกมาแข็งค่า (NEER ไม่ได้รวมราคาทองคำ)
“เวลาดูค่าดัชนี NEER และ REER จึงมี 2ช่วงเวลาให้เปรียบเทียบคือ เดือนธ.ค.กับปัจจุบัน เพราะค่าที่ออกมาสูงขึ้นหรือต่ำลง เป็นการสะท้อนว่า เงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง
แต่การวัดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยกับคู่ค้าและคู่แข่งนั้น ยังมีมาตรวัดด้านอื่นๆ อีกหลายมิติหรือหลายด้าน ดังนั้นด้านค่าเงินจึงเป็นเพียงมิติเดียว แต่หากต้องการเปรียบเทียบในเชิงลึกจำเป็นต้องเทียบให้ครบทุกมิติ/ทุกด้านประกอบกันด้วยเพื่อให้สะท้อนความสามารถในการแข่งขันได้ชัดเจนขึ้น
สำหรับทิศทางเงินบาทครึ่งปีหลังมีโอกาสอ่อนค่ากว่าครึ่งปีแรก โดยช่วงปลายปีมีแนวโน้มตลาดกลับมาโฟกัสเรื่องปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าหรือยังมีความเสี่ยงอีกมาก โดยมองค่าเงินบาทสิ้นปีค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ คือกลับไปอ่อนค่าตามปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว
สอดคล้องกับนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ที่มาจากปัจจัยหลักการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในครึ่งปีหลัง (แม้ดอลลาร์จะแข็งค่าในช่วงสั้นๆ) ส่วนเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศแถบเอเซีย แต่ในมุมของดัชนีค่าเงิน ไม่ว่าจะเป็น REER หรือ NEER ไม่ได้แข็งค่ามากจนน่ากลัว
ทั้งนี้ หากเทียบปัจจุบันกับตอนต้นปี ดัชนี REER ของไทยกับสกุลเงินต่างๆพบว่า REER ของไทย ยังติดลบ 0.7% เมื่อเทียบกับ REER ของไต้หวันแข็งค่าอยู่ในระดับ 6.7% เกาหลีใต้แข็งค่าอยู่ที่ 2.0% และมาเลเซียแข็งค่าอยู่ที่ 0.1% แต่เมื่อเทียบกับอีก 4สกุลเงินพบว่า REER ต่ำกว่าของไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ -1.9% อินโดนีเซีย -5.3% อินเดีย 5.9% และหยวน -6.1%
“ในมุมของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่ได้แข็งจนทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป หรือถ้าดูในมุมของดัชนี ไม่ว่า NEER และ REER ก็ไม่ได้สูงมาก ขณะที่ REER ติดลบด้วยซ้ำ เพราะเงินเฟ้อเราต่ำ”
หมายความว่า ต้นทุนในภาคการผลิตของไทยต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยรวมความสามารถในการแข่งขันของไทยก็ยังดูดี แต่หากเทียบอินโดนีเซียยอมรับว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่ารูเปียห์
สิ่งที่กังวลมากกว่าคือ ถ้าสมมติไทยได้ดีลที่แย่กว่าประเทศอื่น หรือโดนภาษีนำเข้าอัตรา 36% ซึ่งก็จะเป็นประเด็น เพราะสินค้าไทยจะสู้กับคนอื่นลำบาก ยกตัวอย่าง ข้าวเวียดนาม ราคาจะถูกกว่าข้าวไทย แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคอยากจะกินข้าวนุ่มสายพันธุ์ของเวียดนามหรืออยากกินข้าวหอมมะลิของไทย
ต่อให้ไม่มีประเด็นกดดันเรื่องค่าเงิน สินค้าไทยที่ขายนั้นจะทำให้คนยอมจ่ายได้แค่ไหน ส่วนตัวเห็นว่า สินค้าหนึ่งที่คนยอมจ่ายแพง อย่างอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ที่ต้องใช้ใน DATA Center ที่ยังต้องใช้ฮาร์ตดิสไดร์ฟอยู่ ซึ่งตราบใดที่ธีม DATA Center ยังอยู่ เรายังส่งออกสินค้าธีมนี้ได้ แม้ปัจจุบันคนไปใช้ Solid State Drive ก็ตาม
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซียไซรัส จำกัด(มหาชน)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่านั้น หลักๆ มาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบสกุลเงินในแถบภูมิภาคเอเซีย พบว่า เงินบาทเป็น 1ใน5 สกุลเงินที่แข็งค่า นำโดยดอลลาร์ไต้หวัน ดอลลาร์สิงคโปร์ วอน เยน ริงกิต
ยกเว้น บางประเทศที่มีค่าเงินล้อไปกันดอลลาร์สหรัฐ เช่น จีน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย (อาจมีประเด็นเศรษฐกิจไม่ดีมากกับอัตราเงินเฟ้อสูง) โดยเฉพาะรูเปียห์ที่ค่าเงินอ่อนค่า 5.8% เกือบ 6%
ในแง่ความเสียเปรียบด้านการส่งออกของไทยไปสหรัฐนั้น หากเป็นสินค้าไทยที่ผลิตเองและส่งออกไปขายตลาดสหรัฐโดยตรง และไทยโดนกำแพงภาษีสูงและค่าเงินบาทแข็ง เป็นไปได้ที่ไทยจะเสียเปรียบหรือแพ้จีน เวียดนามหรือมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ประเทศเหล่านี้ยอมรับว่า เขามีแต้มต่อกว่าไทย แต่โดยรวมผลระทบต่อการส่งออกของไทยอาจจะ 50:50 ส่วนใหญ่เป็นประเภทสินค้าเกษตร หรือสินค้าที่ตั้งต้น แต่ไม่ถึงกับส่งออกไม่ได้เลย
ส่วนกรณีที่ไทยรับจ้างบริษัทสหรัฐผลิตหรือบริษัทสหรัฐที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์หรือรถยนต์ หากไทยโดนกำแพงภาษีสูงหรือเงินบาทแข็งค่า อาจจะเห็นบริษัทสหรัฐฯ หาแหล่งผลิตใหม่ แต่ก็คงไม่ใช้เวลาย้ายฐานการผลิตชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ส่วนตัวมองในเชิงดุลสมการกับสหรัฐ เป็นโอกาสที่ไทยจะเกินดุลการค้าสหรัฐน้อยลง (ไทยต้องทำนโยบายค่าเงินบาทแข็งค่า เพื่อซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ทำให้ไทยไม่เกินดุลการค้าสหรัฐมากเช่นที่ผ่านมา) แต่เงินบาทไม่ได้แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินประเทศอื่นๆ
"การที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์นั้น ส่วนตัวมองในเชิงสมการกับสหรัฐ เพราะทำให้ไทยไม่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ/นำเข้าของไทยคือ ไทยไม่ได้เสียเปรียบมากเพราะโครงสร้างของไทยเป็นโครงสร้างที่มีบริษัทสหรัฐเข้ามาลงทุน /จ้างไทยผลิต โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจกระทบความสามารถทำกำไรแต่ไม่กระทบปริมาณซื้อ ถ้าจะมีผลกระทบก็เป็นสินค้าคอมมูนิตี้"
ที่สำคัญสหรัฐเขาจับตาว่า ไทยทำให้เกินดุลการค้าสหรัฐหรือเปล่า ดังนั้นควรใช้จังหวะเงินบาทแข็งค่าหาไอเท็มที่เราสามารถซื้อหรือนำเข้าได้เพื่อลดการเกินดุลในอนาคตหรือสัญญาว่าเราจะซื้อ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ เงินบาทต้องไม่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจริงๆสามารถทำได้ โดยไทยไม่ได้เสียเปรียบ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 20-23 กรกฏาคม 2568