Twin Influx : ภัยคุกคามซ้อนสองเศรษฐกิจไทยจะรอดอย่างไร?
ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การค้าครั้งสำคัญและเปราะบางอย่างยิ่ง ท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าใหม่ได้ภายในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ไทยจะต้องโดนเก็บภาษี 36% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ
Krungsri Research ประเมินว่า หากไทยเผชิญภาษี 36 % อาจสูญเสียมูลค่าการส่งออกในระยะยาวถึง 1.62 แสนล้านบาท และฉุดรั้งการเติบโตของ GDP ในปี 2568 ให้ชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.5% และการส่งออกลดลงเหลือ 1.6% จากเดิมที่เติบโตสูงถึง 14.9% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี
การที่เรายื่นข้อเสนอสำคัญที่จะยกเลิกภาษีสำหรับสินค้าสหรัฐฯ อาทิ ก๊าซธรรมชาติเหลว อากาศยาน ข้าวโพด และเครื่องจักรในอุตสาหกรรม เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าสูงถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หากสามารถบรรลุข้อตกลงที่คล้ายกับสหรัฐฯ-เวียดนาม โดยที่สหรัฐฯ เก็บภาษี 20% จากสินค้าไทย และไทยเก็บภาษี 0 % จากสินค้าสหรัฐฯคาดว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยลงอย่างมาก เหลือการส่งออกที่สูญเสียเพียง 17.4 พันล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากรณีภาษี 36% ถึง 9.3 เท่า
ทว่าทางเลือกนี้ไทยจะต้องพบกับ “ภัยคุกคามใหม่” ที่สำคัญ นั่นคือ “การหลั่งไหลสองทาง (Twin Influx)” คือสถานการณ์ที่สินค้าจากสหรัฐฯ และจีนจะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดไทยพร้อมกัน แม้การลดภาษีนำเข้าจะช่วยบรรเทาปัญหาการส่งออกได้ แต่การเสนอภาษี 0 % ให้สหรัฐฯ อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่การนำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คาดการณ์ว่าในระยะยาว การนำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นถึง 27 % หรือ 1.88 แสนล้านบาท พร้อมๆ กับการหลั่งไหลของสินค้าจีนที่ยังคงมีอยู่จากการเกินอุปทานในภาคการผลิตของจีน รวมถึงการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการหลบเลี่ยงการค้าที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเฟส 1
ภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดคือ ภาคเกษตรและอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาจเห็นการหลั่งไหลของสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่า 100 % และด้วยภาคเกษตรมีการจ้างงานเกือบ 28.6% ของแรงงานทั้งหมดในปี 2567 จึงกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างรุนแรง ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า และยางและพลาสติก ก็อาจมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักเช่นกัน การหลั่งไหลของสินค้านำเข้านี้จะบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคส่วนภายในประเทศที่เปราะบาง โดยเฉพาะภาคเกษตร และอาจถ่วงการเติบโตในระยะยาวของไทย
คำถามคือว่า หากไทยต้องเปิดรับ “การหลั่งไหลสองทาง” ภายใต้นโยบายการค้าที่เข้มงวดมากขึ้นจากทั้งสหรัฐฯ และจีน ทางเลือกของประเทศไทยในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถทำได้อย่างไร ในสถานการณ์เช่นนี้ว่าจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลอย่างยิ่งในการเร่งกระจายตลาดและเจรจาทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อฟื้นคืนความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง รวมทั้งการสร้างสมดุลและหาวิธีสร้างเส้นทางใหม่ที่มั่นคงกว่า จึงจะเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติการค้าครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2568