หอการค้า ชู สายสัมพันธ์ 4 สาย ไทย–จีน ที่ตัดไม่ขาด เน้นเดินหน้าการค้าเสรีและเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่เพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดงาน Exclusive Dinner Talk 50 ปี ไทย-จีน The Golden Road : From Now to Eternity เนื่องในวาระของการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน
หลังจากรับประทานอาหารค่ำ เข้าสู่ช่วงปาฐกถาพิเศษ โดย นายอู๋ จื้ออู่ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมขึ้นเวที
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว
ปาฐกถาพิเศษ ‘ความร่วมมือทางการค้า และพันธมิตรธุรกิจไทย-จีน’ ว่า ถ้าพูดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้น ต้องบอกว่ามีความสัมพันธ์ที่พิเศษมากและความสัมพันธ์เหล่านี้ สามารถแบ่งออกเป็น 4 สายด้วยกัน ซึ่งความสัมพันธ์อันนี้จะแตกต่างจากความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับประเทศอื่นๆ ในโลก
“สายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน สามารถแบ่งออกเป็น 4 สายด้วยกัน ผมจะขอพูดว่าถ้าสายสัมพันธ์หนึ่งขาดไป ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไทยกับจีน ในสายสัมพันธ์ที่ไม่สามารถขาดกันได้“
แบ่งออกเป็น 4 มิติหลัก ดังนี้
(1)ความสัมพันธ์ด้านการทูต ไทยและจีนมีความผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้ยกระดับเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 50 ปีก่อนอย่างเป็นทางการ
(2)ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้า ประเทศไทยนั้นมีการค้าขายกับประเทศจีนมายาวนานเป็นเวลากว่า 700 ปี โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 และ 3 นั้น ชาวจีนได้เข้ามาทำการค้า และ ไทยได้กอบโกยรายได้และการนำองค์ความรู้การผลิตมาประยุกต์ใช้ในประเทศ
(3)ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ต้องบอกว่า วิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่น้อยเลยที่ ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง ทั้งในด้านภาษา อาหาร ประเพณี และศิลปะ
(4)ความสัมพันธ์ด้านเครือญาติ คนไทยเชื้อสายไทยนั้นมีบทบาทที่สำคัญ ในการพัฒนาประเทศ อย่างเช่น คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่เป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมของไทยจีนแนบแน่น
2 ปีที่ผ่านมานั้น จะเห็นกระแสต่อต้านสินค้าจีนที่ถูกมองว่าเข้าทุ่มตลาดในไทย มีความกังวลประเด็นการลงทุนของจีนที่อาจกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในประเทศ แต่จากมุมมองของหอการค้าไทย เราเชื่อว่า ถ้าหากสองประเทศ ตั้งอยู่บนจุดยืน ที่ขับเคลื่อนการค้าและความร่วมมือ อยู่ในกรอบ การค้าเสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Trade) ก็คงจะสามารถสร้างโอกาสเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
นายสนั่น กล่าวว่า นอกจากนี้ เรายังเห็นศักยภาพจากเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากจีน เช่น หุ่นยนต์อัตโนมัติ เครื่องจักรประหยัดพลังงาน ที่มีต้นทุนต่ำกว่าตะวันตก ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าได้

ขณะที่จีนเองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายจากสงครามการค้า จึงมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีเขตอุตสาหกรรม เช่น WHA ที่พร้อมรองรับ และเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากจีนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าส่งออกไทย ถ้าสองฝ่ายต่างทำกันได้ ก็จะทำให้การส่งออกของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงอย่างแน่นอน
“อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ปฏิเสธว่า มีบางกรณีที่สินค้าจากจีนไม่ได้มาตรฐาน และ ไม่มี อย. หรือ เลี่ยงมาตรฐาน มอก. ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะต้องได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ต้องขอชื่นชม มอก. ที่ดูแลได้ดีและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง” นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการ “สวมสิทธิ์” การนำเข้า การเปลี่ยนแหล่งกำเนิดสินค้า (Group of Origin) รวมถึงการถ่ายเทสินค้าผ่านประเทศที่สาม ซึ่งเราจำเป็นต้องร่วมกันสร้างระบบที่โปร่งใสและชัดเจน
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้ง “กลไกส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือบนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ความโปร่งใส การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด Be Positive และ Net Focus เราต้องการสร้างการสื่อสารที่นำไปสู่ Solution ร่วมกันของภาคธุรกิจทั้งสองประเทศ
นายสนั่น กล่าวว่า อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ Thailand–China Cooperation Expo 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–28 กันยายน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ขณะนี้มีบริษัทชั้นนำกว่า 700 แห่งจากทั้งสองประเทศตอบรับเข้าร่วมงาน ซึ่งจะครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เกษตรอัจฉริยะ โลจิสติกส์ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ยังจะมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching), งานรับสมัครงาน (Job Fair) และนิทรรศการการศึกษาร่วม (Education Fair) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ
“50 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตร่วมกัน
“Golden Road” ที่เราร่วมกันปูในวันนี้ จะเป็นถนนสายทองที่ทอดยาวจากอดีต ผ่านปัจจุบัน และมุ่งสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสมกับคำที่ว่า “จีนไทยเป็นครอบครัว ญาติมิตรเดียวกัน” นายสนั่น กล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กรกฏาคม 2568