เจ้าสัวธนินท์ แนะ ไทยปักหมุดศูนย์กลางการผลิต ต่อยอดการค้า-ดึงลงทุนเทคโนโลยีสุดล้ำ
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยในงาน Exclusive Dinner Talk ไทย-จีน THE GOLDEN ROAD FROM NOW TO ETERNITY หัวข้อ 50 ปี ไทย-จีน The Golden Road : From Now to Eternity ว่า ขณะนี้มองเห็นความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้าโดยเฉพาะ 30 ปีข้างหน้า จากการไปลงทุนในจีนที่ผ่านมารวมกว่า 46 ปี โดยย้อนไปช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
จีนเน้นเรื่องเทคโนโลยีไม่ใช่การค้าระหว่างประเทศอย่างเดียว แต่เน้นการผลิตร่วมด้วย ซึ่งสิ่งที่ประทับใจมากคือ การใช้หุ่นยนต์ เทคโนโลยี เครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อผลิตสินค้าของดีราคาถูกขายไปทั่วโลก จากนั้น 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมากมาย อาทิ หัวเว่ย อาลีบาบา เทนเซ็นต์ และยังมีตามมาอีก ซึ่งในวันนี้จีนมีคนเก่งเทคโนโลยี คนหนุ่ม 30 กว่าคนที่ลือชื่อและมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสูง ผลิตจรวด โดรน หุ่นยนต์ที่ความก้าวหน้า
โดยมองว่าหากเป็นภาคการผลิตแล้ว ไม่มีประเทศไหนผลิตได้เร็วเท่าจีน เพราะจากการศึกษาเทคโนโลยีของจีน ไม่ได้ใช้แรงงานแต่ใช้สมอง ซึ่งคนใช้สมองก็ไม่ได้ทำงานแบบสบายๆ มีความทุ่มเทในการทำงานสูงมาก
นายธนินท์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างผู้สร้างจรวดของจีน ที่ทดสอบยิงครั้งเดียวก็สำเร็จได้ ซึ่งมีโอกาสได้สอบถามมาว่าทำไมถึงทำสำเร็จได้ในครั้งเดียว ผู้ผลิตดังกล่าวมีคำตอบคือ กำลังเงินไม่พอจึงต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะเป็นบริษัทส่วนตัว ทำให้แม้จรวดจะมีชิ้นส่วนประกอบเป็นแสนชิ้น แต่ใช้คนที่มีความรู้และทักษะสูง สร้างเสร็จแล้วใช้เวลา 5 เดือนในการตรวจสอบก่อนขึ้นยิงว่าส่วนใดมีปัญหาหรือไม่
ซึ่งมีคนกว่า 200 คนที่มีความรู้สูงใช้เวลา 5 เดือนในการทำงานแบบไม่กลับบ้าน ทุ่มเท อดทน ใช้สมองไม่ได้ใช้แรงงานเท่านั้นถึงจะสำเร็จ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นอย่างหุ่นยนต์ หากสร้างจรวดได้แล้ว หุ่นยนต์ที่มีชิ้นส่วนไม่กี่หมื่นชิ้น หรือรถยนต์ที่มีชิ้นส่วนหลายหมื่นชิ้นแต่ไม่ถึงแสนชิ้น ก็สามารถผลิตได้เช่นกัน
นายธนินท์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะมองว่าจากนี้จีนจะต้องผลิตสินค้าออกไปขายนอกประเทศทั่วโลก แต่เทคโนโลยีที่เป็นสมองจะอยู่ในจีน ทั้งชิ้นส่วนอัจฉริยะหรือสิ่งต่างๆ ที่เรามองไม่เห็นเหล่านั้น โดยมีข้อเสนอแนะคือ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางจริงๆ และประเทศไทยมีการเดินนโยบายที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่สร้างศัตรู เคารพวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
รวมถึงใครก็อยากอยู่ในประเทศไทย โดยญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยมากสุดเป็นกลุ่มรถยนต์ ซึ่งต่อจากนี้จะไม่ใช่รถยนต์แล้วแม้ยังมีความสำคัญอยู่ แต่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ อาทิ หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ จรวด ชิ้นส่วนไอโอที เอไอต่างๆ หากประเทศไทยมองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางการค้า จะเริ่มเป็นศูนย์กลางการผลิตได้ด้วยหรือไม่
“ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสร้างพื้นฐานไว้แล้ว หากเรามีนโยบายที่ดีกว่าปัจจุบัน พวกสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตแล้วไม่ใช่ขายเพียงในไทยเท่านั้น แต่ไปขายต่างประเทศด้วย เพราะไทยมีขนาดเล็กมาก จำนวนประชากรประมาณ 60 ล้านคน อาเซียนมีประมาณ 600-700 ล้านคน เทียบกับจีนที่มีจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน
หากไทยทำธุรกิจกับจีน ต่างคนต่างไม่มีภาษี เชื่อว่าจีนแพ้ เพราะเสียเปรียบ แต่การที่ไทยจะได้เปรียบ ต้องมีการศึกษาก่อนว่า คนจีนต้องการอะไร ไทยจะสามารถผลิตสินค้าตอบสนองได้อย่างไร ผ่านการลงทุนเองและเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย” นายธนินท์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กรกฏาคม 2568