กกร.ห่วงเศรษฐกิจโลกปี 66 ขยายตัวต่ำแค่ 1% ขณะที่ไทยลดลงด้วย
กกร.ห่วงเศรษฐกิจโลกปี 2566 ขยายตัวต่ำแค่ 1% จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ เงินเฟ้อสูง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดลดลงในปีหน้า พร้อม กกร. เสนอ 4 ข้อเกี่ยวภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้างต่อ สุพัฒนพงษ์ พิจารณา
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมที่อยู่ในวงจำกัด ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7.0-8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6.0-6.5%
ทั้งนี้ กกร.มีความเป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปีหน้าได้ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงหลายด้านและมีการทยอยลดบทบาทนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าสู่จุดสมดุล หรือ Policy Normalization อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งน้อยกว่าที่คาดไว้ และกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดล่าช้าออกไป
การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับขึ้นเงินนำส่งเข้า FIDF เข้าสู่ภาวะปกติจากอัตรา 0.23% เป็น 0.46% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบ และการยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ซึ่งการทยอยลดบทบาทหลายมาตรการพร้อมๆ กัน เสี่ยงที่จะเป็นการกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME และครัวเรือนที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
ในปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยจะเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางของระบบการเงินสำหรับภาคธุรกิจ หรือ PromptBiz บนมาตรฐานการรับส่งข้อมูล ISO 20002 ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อการนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Invoice โดยจะมีการเชื่อมต่อกับการพัฒนา Digital Supply chain Finance Platform (DSCF) และ National Digital Trade Platform (NDTP) ที่ กกร.ร่วมขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือประเด็น การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ซึ่งระบุอัตราภาษีสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ไม่ได้ปรับลดลง 90% แต่มีผลเป็นเพียงการลดอัตราการจัดเก็บในระดับชั้นเดียว คือ ลดจากอัตราเพดานตามมาตรา 37 ลงมา แต่ยังไม่ได้ลดลงอีกร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 ซึ่งจะทำให้ราคาประเมินใหม่รอบปี 2566-2569 ทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะครบกำหนด 3 ปีที่ต้องเพิ่มอัตราเก็บภาษีอีก 0.3% และ กทม. จ่อปรับอัตราเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมเต็มเพดาน 0.15% หรือเก็บเพิ่ม 15 เท่า
ซึ่ง กกร. จะมีข้อเสนอถึงคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาใน 4 ประเด็น ดังนี้
(1)ขอให้พิจารณาแก้ไขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จที่ยังไม่ได้ขาย จากประเภทอื่น ๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย
(2)พิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรฯ และอาคารชุดที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันจะไม่ได้รับการยกเว้น จึงขอเสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จากประเภทอื่น ๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย
(3)พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไปอีก 2 ปี (ปี 2566 และ ปี 2567) โดยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ทั้งนี้ ในปี 2566 ขอลดหย่อน 75% และปีต่อไป 50% ตามลำดับ
(4)พิจารณายกเว้น เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยสำหรับผู้ค้างชำระในปี 2565 โดยให้ผ่อนชำระในปี 2566
ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแต้มต่อให้กับประเทศต่าง ๆ ในการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤตถดถอยในขณะนี้ โดย กกร. เห็นว่าประเทศไทยควรเร่งรัดการเจรจา FTA ให้มากขึ้น รวมถึงต้องมีการปลดล็อคปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินต่อได้ รวมทั้งประเทศไทยต้องปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ของการทำ FTA ในอนาคตด้วย เพราะหากไม่แก้ปัญหาต่าง ๆ นี้แล้ว การทำ FTA ต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์อย่างมาก
ภาคเอกชนพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 และเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ การประชุมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และประชาชนคนไทย ภายใต้แนวคิด Embrace. Engage. Enable. เพื่อเปิดรับโอกาส สอดประสานความเชื่อมโยง และร่วมกันสร้างความเป็นไปได้
โดยมีความพร้อมแล้วในทุกด้าน ไม่ว่าด้านสถานที่จัดการประชุม การดูแลต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การรักษาความปลอดภัย และการจัดงานเลี้ยงรับรอง การประชุมประกอบด้วยประเด็นที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม ในขณะนี้ได้รับการยืนยันการเข้าร่วมงานจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรโลกที่สำคัญ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอระดับแนวหน้าจากทุกเขตเศรษฐกิจในการเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนะที่สามารถร่วมบูรณาการได้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กกร. ประเมินเศรษฐกิจ ดังนี้ การค้าโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสเผชิญภาวะถดถอยชัดเจนมากขึ้น โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าในปี 2566 การค้าโลกจะเติบโตได้ในระดับต่ำแค่ 1% จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยาวนานและธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเข้มงวด
รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดพลังงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับประมาณการล่าสุดของ IMF ที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของหลายประเทศ อีกทั้งโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐและ Euro Zone ที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงเช่นกัน เศรษฐกิจไทยจะเผชิญต้นทุนต่าง ๆ ทั้ง ค่าไฟ ค่าแรง และสินค้านำเข้า ที่แพงขึ้น ในขณะเดียวกันนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเริ่มมีการลดบทบาทออกไปเพื่อปรับนโยบายสู่สมดุล (Policy Normalization) ทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน
เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ซึ่งการถอนการสนับสนุนเศรษฐกิจหลายมาตรการพร้อมๆ กัน เสี่ยงที่จะส่งผลกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ทางการประเมินไว้เดิมได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทยอยฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.3 ล้านคน ทั้งปีน่าจะใกล้เคียง 10 ล้านคน จึงมีส่วนช่วยให้การจ้างงานของเอกชน และอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
มาตรการช่วยเหลือเพื่อประคับประคองกลุ่มเปราะบางของ ธพ. ยังคงมีความจำเป็น เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงหลายด้าน เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้
โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการออมเงินของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะพิจารณาและเสนอแนวทางการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 ตุลาคม 2565