พณ.กางตัวเลขคาด ส่งออก ปี67 ทะลุ 10 ล้านล้าน ทำสถิตินิวไฮครั้งที่สอง
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายน 2567 ไทยมีการส่งออกมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เมื่อคิดเป็นเงินบาท 849,069 ล้านบาท หรือหดตัว 0.6
หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ส่งออกเดือนนี้จะขยายตัว 7% ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตสูง ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น
อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตอย่างมีศักยภาพ ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 867,456.4 ล้านบาท หดตัว 7.2% โดยขาดดุลการค้า 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุล 18,387.1 ล้านบาท ส่งผลให้ 11 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.1% คิดเป็นเงินบาท 9,695,455 ล้านบาท ขยายตัว7.3% การนำเข้า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.7% คิดเป็นเงินบาท 10,032,550 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% และไทยขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุล 337,096 ล้านบาท
ส่งออกเดือนธันวาคม หากได้เกิน 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปี2567 ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 5.2% หากมูลค่าเกิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทกว่า 10 ล้านล้านบาท ถือเป็นมูลค่าส่งออกนิวไฮครั้งที่สอง จากครั้งแรกปี 2565 ที่มีมูลค่ากว่า 2.87 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2568 ไม่ได้กังวลอะไรมากนักและตั้งเป้าเติบโต 2-3% ตามปัจจัยกดดันสูง ทั้งเรื่องผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 สงครามตะวันออกกลาง ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพอากาศ ส่วนเรื่องปีนี้ขาดดุลการค้าสูงนั้น ส่วนใหญ่มาจากนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าทุนและวัตถุดิบ เพื่อนำมาผลิต ซึ่งดีต่อการส่งออกในอนาคต ส่วนสินค้าที่มีการหดตัว เช่น ข้าวหดตัว 20% ในเดือนพฤศจิกายน เพราะหลายประเทศมีสต็อกสูงเพื่อเทศกาลปีใหม่ และราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ทั้งปีนี้เชื่อว่าไทยจะส่งออกได้ถึง 10 ล้านตัน จาก 11 เดือนส่งแล้ว 9.18 ล้านตัน ” นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงมติครม.วันที่ 24 ธันวาคม ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำเพิ่มเป็น 400 บาท นำร่องใน 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เกาะสมุยจ.สุราษฎร์ธานี นั้น สนค. กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์และเก็บข้อมูล ว่าจะกระทบต่อต้นทุนและดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อ)อย่างไร ซึ่งในระยะสั้นจะยังไม่มีผลกระทบโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงไทยรับเข้าเป็นประเทศกลุ่มหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์(BRICS4) ด้วย
”ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังใช้จ่ายเข้าช่วงปีใหม่ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมาแบบรัวๆ ผ่านมาตรการการเงินการคลัง และกิจกรรมส่งท้ายปีของรัฐบาลและเอกชน ถือเป็นการรักษาโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เกิน 3%“ นายพูนพงษ์ กล่าว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น่าจะชัดเจนว่าการส่งออกไทยปี 2567 ทำมูลค่าสูงสุดอีกครั้ง หรือประมาณ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2568 ยังมองโอกาสขยายตัวได้ 2-3% เพราะมีปัจจับลบมากกว่าบวก และเผชิญความท้าทายหลายด้าน ที่สำคัฐคือผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโร เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อสิ่งแวดล้อมจากสหภาพยุโรปที่จะมีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการและราคาส่งออก ซึ่งภาคเอกชนบางส่วนเตรียมรับมือลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้นแล้ว แต่กลุ่มเอสเอ็มอียังต้องปรับตัวอีกมาก
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 ธันวาคม 2567