จุดเปลี่ยน 30 ปี WTO ไทย–สวีเดน แนะสู่เส้นทางใหม่ของการค้าบนกติกา
ผู้อำนวยการการค้าสวีเดนสะท้อนบทเรียนโลกหลัง WTO ครบ 30 ปี แนะไทย–อียูสานต่อข้อตกลงการค้าเสรี สร้างแนวร่วมยึดหลักกติกากลาง ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง
ในวาระครบรอบ 30 ปีที่ไทยและสวีเดนร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) นายแอนเดอร์ส อันลิด (Anders Ahnlid) อธิบดีคณะกรรมการการค้าแห่งชาติสวีเดน ได้เปิดเผยบทความแสดงทัศนะสะท้อนถึงความสำคัญของระบบการค้าที่ตั้งอยู่บนกติกา และบทบาทของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ในการสนับสนุนระบบดังกล่าวให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
โดยระบุว่า ระบบการค้าโลกที่มีพื้นฐานจากความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) และพัฒนาต่อมาเป็น WTO ได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกมายาวนานเกือบ 80 ปี และตลอดช่วงเวลานั้น ไทยและสวีเดนต่างก็เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนหลักการของระบบการค้าพหุภาคีมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง แนวโน้มที่บางประเทศสำคัญเริ่มเบี่ยงเบนจากกรอบกติกาที่เคยมีร่วมกัน กำลังสร้างความท้าทายต่อระบบการค้าโลก นายแอนเดอร์สยังระบุว่า แม้สถานการณ์จะซับซ้อน แต่ก็อาจถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเร่งสรุปความตกลง FTA ระหว่างไทย กับ EU เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันในการรักษากติกาและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังได้ยกตัวอย่างความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับเวียดนาม (EVFTA) ที่เริ่มเห็นผลเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม โดยเวียดนามสามารถขยายมูลค่าการส่งออกไปยังยุโรปได้เกือบ 50% และการนำเข้าจากยุโรปก็เติบโตตามไปด้วย สะท้อนว่าข้อตกลงการค้าเสรีสามารถสร้างประโยชน์ทั้งในระดับเศรษฐกิจมหภาคและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
นายแอนเดอร์ส ยังกล่าวถึงประเด็นที่ตกอยู่ท่ามกลางความคิดเห็นในสังคมที่อาจะมองว่าการนำเข้าจะส่งผลกระทบในแง่ลบ ซึ่งงานวิจัยในยุคใหม่ชี้ให้เห็นว่าการเปิดรับสินค้าจากภายนอกมีส่วนสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มทางเลือก และส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ
สำหรับในกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของสวีเดน นายแอนเดอร์ส เสนอว่า แม้จะมีความพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีและโครงสร้างการค้า แต่การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบกติกานานาชาติยังคงเป็นแนวทางที่สร้างเสถียรภาพได้ดีกว่าในระยะยาว
นายแอนเดอร์สยังได้เสนอแนวคิดให้ไทย สหภาพยุโรป และพันธมิตรที่มีจุดยืนร่วมกัน ร่วมกันเสริมสร้างโครงสร้างการค้าโลกใหม่ที่ยึดถือหลักการเปิดกว้าง เป็นธรรม และเคารพพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเห็นว่า FTA ระหว่างไทย และ EU อาจเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ ซึ่งหากขับเคลื่อนได้สำเร็จ อาจต่อยอดไปสู่ความร่วมมือกับกรอบอื่น เช่น CPTPP ในอนาคต
พร้อมกับสรุปว่า ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากประเทศที่เคารพกฎเกณฑ์สามารถร่วมกันกำหนดแนวทางที่ยั่งยืนได้ ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และเปิดทางให้การค้าโลกกลับมาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาร่วมกันอีกครั้ง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568