ไทยเฟ้นโอกาสเศรษฐกิจดิจิทัล หลังโตเด่นกลางโลกการค้าตึงเครียด
ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก
รายงาน ในปี 2566 มูลค่าการใช้จ่ายด้านธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (IT Service) ของโลก มีการเติบโต 3.8% จากปีก่อนหน้าคิดเป็นมูลค่ารวม 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ และในปี 2567 คาดว่าการใช้จ่ายเกี่ยวกับ IT Service ของโลก จะมีมูลค่าถึง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.5% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ข้อมูลจาก Trademap พบว่า การค้าบริการระหว่างประเทศของโลก สาขาบริการโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และสารสนเทศ (telecommunications, computer, and information services) แนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562-2565 โดยในปี 2565 มีมูลค่า 1.43 ล้านล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.43% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 10.98% ของการค้าบริการทั้งหมดของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดดิจิทัลโลก
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดทำรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง ปลดล็อกโอกาสเติบโตธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทย พบว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและบริการแห่งอนาคต ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เป็นเครื่องมือธุรกิจ ซึ่งธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัล เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อีกทั้งธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะให้ความสำคัญและส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวให้เป็นหนึ่งในธุรกิจขับเคลื่อนภาคบริการของประเทศ
ประเทศไทยได้พยายามผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลมาโดยตลอด ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่า ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทยมีมูลค่า 567,057 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้า9.79% และในปี 2566 GDP ในสาขาบริการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (Information and Communication) มีสัดส่วน 2.82 %ของ GDP ทั้งหมดของไทย และคิดเป็น 4.63% ของ GDP ภาคบริการของไทย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลนิติบุคคลไทยของสนค. พบว่า ในปี 2566ทั้ง3 กลุ่มธุรกิจที่น่าจับตาและ เป็นโอกาสของไทย ได้แก่
(1)กลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 215,191 ล้านบาท ในปี 2566 และเป็นธุรกิจที่ขยายตัวสูงสุดในกลุ่มธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัล โดยขยายตัวจากปีก่อนหน้า 12.80% มีอัตรารายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) ที่ 14.75% และมีผลกำไรในทุกภูมิภาค มีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 7,877 ราย อีกทั้งคาดว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของโลกจะเติบโตได้อีกมากในปี 2567-2569 โดยตัวอย่างธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุด เช่น การจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ (ยกเว้นโปรแกรมเว็บเพจและเครือข่าย) ,การจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (ยกเว้นซอฟต์แวร์เกมสำเร็จรูป) และ การจัดทำโปรแกรมเว็บเพจและเครือข่ายตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เป็นต้น
(2)กลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัล มีมูลค่า 307,630 ล้านบาท ในปี 2566 ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 9.28% มีการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยที่ 0.04% มีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 19,235 รายซึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพเมื่อพิจารณาจากจำนวนนิติบุคคลและรายได้รวมที่มาก ได้แก่ การขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ,การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์อื่นๆ ,การบริการเป็นตลาดกลาง
ในการซื้อขายสินค้า/บริการโดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ ธนาคารและประกันภัย เป็นต้น
สำหรับ 3. กลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ มีมูลค่า 44,236 ล้านบาท ในปี 2566 ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 0.01% เป็นธุรกิจอีกหนึ่งกลุ่มที่
น่าจับตามอง เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกและรวดเร็ว ธุรกิจกลุ่มนี้มีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 6,370 ราย และมีรายได้รวมในปี 2566 อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่น่าสนใจและผลักดันเนื่องจากมีรายได้รวมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตรายการโทรทัศน์ ,การขายปลีกเครื่องเล่นวีดิโอเกมและซอฟต์แวร์สำเร็จรูป และ การผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์
“แม้ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลของไทยก็ยังพบกับความท้าทายอีกหลายประการ อาทิ การเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย รวมถึงข้อจำกัดด้านเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย”
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทย ภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนร่วมดังนี้
1)วางรากฐานนวัตกรรม อาทิ พัฒนา Digital Park Thailand และพัฒนาความเร็วและเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย
2)ทุนหนุนเทคโนโลยี อาทิ เพิ่มมาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัล
3)เสริม IP ดิจิทัล อาทิ เพิ่มมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ และสนับสนุนการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย และ
4)ขยายเป้าการค้าการลงทุน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อเพิ่มรายได้และโอกาสในการขยายธุรกิจบริการไทยให้เป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางบริบทโลกที่ผันผวน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568