"พิชัย" ร่วมถกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มาเลเซีย เตรียมแผนรับมือวิกฤตโลก ชงผู้นำต่อไป
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Council: AEC Council) ครั้งที่ 25 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี H.E. Senator Tengku Datuk Seri Utama Zafrul Tengku Abdul Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีของเสาเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมเสนอผลงานสำคัญต่อการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม
โดยที่ประชุมฯรับทราบสถานการณ์ความผันผวนเศรษฐกิจโลก แต่ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน ยังขยายตัวในเชิงบวกถึง 4.8% ในปี 2567 เป็นผลจากการค้าภายในเพิ่มขึ้นถึง 8.4% และการลงทุนในภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน พร้อมกันนี้ ได้หารือถึงแนวทางการรับมือความเสี่ยงจากภูมิเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อห่วงโซ่การค้าและการส่งออกของอาเซียน

ด้านนายพิชัย กล่าวว่า ไทยได้สนับสนุนการมีท่าทีร่วมของอาเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสร้างสรรค์และสมดุล รวมถึงผลักดันความร่วมมือกับสหรัฐฯ แบบรวมกลุ่ม คู่ขนานกับการดำเนินการของแต่ละประเทศ พร้อมสนับสนุนคณะทำงานด้านภูมิเศรษฐศาสตร์อาเซียน ให้เป็นกลไกวางแนวยุทธศาสตร์รองรับความเสี่ยงในระยะยาว ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปผลงานสำคัญของเสาเศรษฐกิจเพื่อรายงานต่อผู้นำอาเซียน อาทิ แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนฉบับใหม่ การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และการบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัล
ซึ่งรวมถึงการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) และการพัฒนาหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลอาเซียน (UBIN) การพัฒนาระบบ ASEAN Single Window เวอร์ชันใหม่ การเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างประเทศ และการพัฒนามาตรฐานการค้าดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าข้ามแดน ดึงดูดการลงทุน และเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนในยุคดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น
นายพิชัย กล่าวว่า เสาเศรษฐกิจเตรียมเสนอผู้นำรับรองปฏิญญาความร่วมมือเศรษฐกิจกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เพื่อเปิดตลาดใหม่และเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยหนุนแนวทางนี้ มองว่าช่วยกระจายความเสี่ยง ดึงโอกาสการค้า-ลงทุนในพลังงาน เทคโนโลยี เกษตร และบริการ พร้อมชี้ GCC เป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียนในตะวันออกกลาง และมีบทบาทต่อการกระจายห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ซึ่งการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งนี้นับเป็นเวทีสำคัญที่ไทยได้มีบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงจุดยืนเชิงสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 25 พฤษภาคม 2568