ไทย "นำเข้าจีน" พุ่งประวัติการณ์ เร่งช่วงพักรบ 90 วัน จับตา "เครื่องจักร-เครื่องใช้ไฟฟ้า"
KEY POINTS
* เดือนเม.ย.ไทยส่งออกไปตลาดจีนเดือน มูลค่า 3,549 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.2%นำเข้าสินค้าจีน 8,820 ล้านดอลลาร์ รายเดือนสูงเป็นประวัติการณ์ ทำไทยขาดดุลการค้า 5,271 ล้านดอลลาร์
* คาดความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนสูง
* CIMBT คาดการณ์ส่งออกทั้งปีจะเติบโตเพียง 2-3%
* การส่งออกเดือน เม.ย.ขยายตัว 10.2%
* พาณิชย์” มั่นใจเจรจาสหรัฐ ถกภาษีทรัมป์ทันกรอบ 90 วัน
ไทยขาดดุลการค้าจีนต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ไทยขาดดุลการค้าจีน 45,364 ล้านดอลลาร์ สูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยขาดดุลการค้าจีน 19,232 ล้านดอลลาร์ โดยไทยนำเข้าสินค้าจากจีน 31,564 ล้านดอลลาร์
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกไปตลาดจีนเดือน เม.ย.2568 มูลค่า 3,549 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วขยายตัว 3.2% และนำเข้า 8,820 ล้านดอลลาร์ เป็นการนำเข้าสินค้าจีนรายเดือนสูงเป็นประวัติการณ์ รวมแล้วไทยขาดดุลการค้า 5,271 ล้านดอลลาร์
รวม 4 เดือนแรกของปี 2568 ไทยส่งออกไปจีน 12,331 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 31,564 ล้านดอลลาร์ ขาดดุลการค้า 19,232 ล้านดอลลาร์
เมื่อดูรายละเอียดการนำเข้าจากจีน 5 อันดับแรก ในเดือน เม.ย.2568 ไทยนำเข้าหลายรายการสูงขึ้น โดยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 1,667 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 110.6% รองลงมาเป็นเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 848.2 เพิ่มขึ้น 37.8%
เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 658.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.6% , เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 506.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35.1% และเคมีภัณฑ์ 496.8 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.0%
ชี้ไทยเร่งนำเข้าวัตถุดิบจีน :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การนำเข้าจากจีนที่สูงมากอาจมาจากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเพื่อการส่งออก โดยความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผู้นำเข้าเร่งนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออก ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค.นี้
ในขณะที่การส่งออกไปจีนลดลงอาจมาจากการส่งออกผลไม้ไปจีนลดลง ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศทำให้ผลผลิตลดลง โดยประเมินว่าครึ่งหลังปี 2568 หรือหลังจาก 90 วัน ที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีทั่วโลกแล้วจะมีความชัดเจน ขณะนี้ความไม่ชัดเจนทำให้ทุกประเทศต้องเร่งนำเข้าวัตถุดิบขั้นต้นจำนวนมาก
สำหรับการส่งออกของไทยปี 2568 ต้องรอดูว่าภายใน 1 เดือนจากนี้สหรัฐจะตอบรับการเจรจาอย่างไร ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยมีสัดส่วนถึง 19% อีกทั้งหากสหรัฐเก็บภาษีอัตราไม่เท่ากันทั่วโลกจะกระทบซัพพลายเชน และทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐถูกเก็บภาษีมากกว่าคู่แข่ง
ไทยขาดดุลจีน “ปัญหาเรื้อรัง”
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. จะขยายตัวแรงกว่า 10% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่อย่าเพิ่งวางใจกับตัวเลขที่ดูสดใส เพราะภาพรวมทั้งปีอาจไม่ได้สดใสอย่างที่คิด
โดยการส่งออกที่ขยายตัวแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน และพฤติกรรมของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐที่เร่งนำเข้าสินค้าก่อนมาตรการทางการค้าจะมีผลช่วงกลางปี แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมระดับโครงสร้างพบว่ายังมีความเปราะบาง
“เรายังเห็นปัญหาเดิมคือการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูง และส่งออกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศ หรือไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ก็อาจไม่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยบางส่วนยังเป็นเพียงการส่งผ่าน หรือ zero value-added export คือ ไทยเป็นเพียงจุดพักหรือจุดส่งออกต่อ โดยไม่มีการผลิตหรือเพิ่มมูลค่าในประเทศ สะท้อนการเชื่อมโยงต่ำกับภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ดังนั้น คาดการณ์ส่งออกทั้งปีจะเติบโตเพียง 2-3% เท่านั้น แม้ 4 เดือนแรกส่งออกจะเติบโตเกิน 10% จากฐานที่สูงในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวช้าลง
สิ่งที่ห่วงและถือเป็นปัจจัยเสี่ยงคือ ค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายไตรมาส 2 ทำให้ผู้ส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในภาวะที่คำสั่งซื้อเริ่มชะลอตัว
“อีไอซี” ชี้ขาดดุลจีนน่าห่วง :
นางสาวฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นไทยขาดดุลการค้าจีนน่าเป็นห่วง โดยหลังจากจีนเจรจากับสหรัฐได้แล้วผลบวกต่อไทยจะลดลงด้วยเช่นกัน ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา การส่งออกของจีนมาสหรัฐหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดอื่นค่อนข้างมาก ถือว่าจีนกระจายตลาดได้เร็ว
สำหรับแนวโน้มส่งออกไทยช่วงที่เหลือปี 2568 โดยเฉพาะครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงการส่งออกหดตัวสูง โดยการส่งออกเดือน เม.ย.2568 ขยายตัว 10% สูงกว่าที่คาดไว้เป็นช่วงที่ไทยเร่งการส่งออกช่วงสหรัฐชะลอขึ้นภาษีนำเข้า 90 วัน ซึ่งการส่งออกไทยมีทิศทางชะลอตัว
“ขึ้นกับไทยจะเจรจาต่อรองขึ้นภาษีสหรัฐได้มากหรือน้อยกว่าประเทศคู่ค้าหรือคู่แข่งไทย จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนช่วงเดือน ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งครึ่งปีหลังจะเป็นผลกระทบจริงว่าส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เหมือนพายุกำลังมา ตอนนี้เป็นภาพเร่งนำเข้าในช่วงครึ่งปีหลังเข้ามาในช่วง 4 เดือนแรก”
ทั้งนี้ เดิม EIC คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2568 ติดลบ 0.4% ภายใต้สหรัฐเก็บภาษีไทยรวม 23% จากภาษีที่เพิ่มขึ้น 10% และการต่อรองภาษี 36% ลดลงมาเหลือ 23% ได้เทียบเท่ากับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอื่นแต่แนวโน้มส่งออกไทยปีนี้คาดมีโอกาสหดตัวสูงกว่าคาด
4 เดือนแรกไทยนำเข้าแสนล้านดอลลาร์ :
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า การส่งออกเดือน เม.ย.ที่ขยายตัว 10.2% มาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 16.6 % ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 18.7%
ส่งออกสินค้าเกษตรลบ 19.6% :
ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 8.4% โดยสินค้าเกษตรหดตัว 19.6% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 9.1% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า
สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.3%
ตลาดส่งออกสหรัฐพุ่ง 23.8% :
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยยังคงมีปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเร่งส่งออกท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐที่ขยายตัวสูง หลังการเลื่อนเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนออกไปอีก 90 วัน (จนถึง 9 ก.ค. 68)
ทั้งนี้ ตลาดหลัก ขยายตัว 12.7% ประกอบด้วย ตลาดสหรัฐ ส่งออกขยายตัว 23.8% มีมูลค่า 5,040 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 1,785 ล้านดอลลาร์ ได้ดุลการค้า 3,256 ล้านดอลลาร์ รวม 4 เดือน ของปี 2568 ส่งออกมูลค่า 20,848 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 6,853 ล้านดอลลาร์ ได้ดุลการค้า 13,994 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 5.5% , สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ขยายตัว 6.1% , อาเซียน (5 ประเทศ) ขยายตัว 7.8% และ CLMV ขยายตัว 25.2%
ครึ่งปีหลังเผชิญความเสี่ยงสูง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกไตรมาส 2 จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1 แต่ตอบไม่ได้ว่าจะยังเป็น 2 digit หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาภาษีกับสหรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งหากไทยถูกเรียกเก็บอัตราเทียบเท่าประเทศคู่แข่งจะกระทบไม่มาก
ส่วนจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้จากที่กำหนดไว้ 2-3% หรือไม่นั้น คงต้องรอดูการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 ก่อน รวมทั้งต้องหารือกับภาคเอกชนด้วย
ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากภาษีนำเข้าของสหรัฐที่อาจถูกเรียกเก็บภายหลังพ้นจากช่วงเวลาที่ได้รับการยกเว้น 90 วัน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องในการเตรียมพร้อมแนวทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และวางแผนออกมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ
มั่นใจเจรจาภาษีทรัมป์ทันกรอบ 90 วัน :
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเจรจาภาษีกับสหรัฐมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 90 วัน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่านโยบายส่งออกในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และจะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
"ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจไทย แม้ในช่วงที่ผ่านมา มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐแต่การส่งออกเดือน เม.ย.ยังเติบโตถึง 10.2%หลายฝ่ายเคยคาดว่าภาษีจากสหรัฐจะทำให้ส่งออกไทยตกฮวบ แต่ตัวเลขพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เรายังโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 23.8% และโตต่อเนื่องมาแล้ว 19 เดือนติดต่อกัน” นายพิชัยกล่าว
อย่างไรก็ตามตลาดสำคัญอื่นขยายตัวเช่นกัน อาเซียนขยายตัว 7.8% ต่อเนื่อง 2 เดือน เอเชียใต้ 8.7% ต่อเนื่อง 7 เดือน สหภาพยุโรป 6.1% ต่อเนื่อง 11 เดือน ญี่ปุ่น 5.5% ต่อเนื่อง 2 เดือน และจีน 3.2% ต่อเนื่อง 7 เดือน
ส่วนตลาดยุโรปนั้น กระทรวงพาณิชย์เตรียมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเข้าพบกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายมารอส เซฟโควิช รวมถึงพบปะกับ OECD เพื่อผลักดันให้การเจรจาสำเร็จเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าของไทยในตลาดยุโรปได้อย่างมาก
“การส่งออกยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยแม้ในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2568 การส่งออกไม่เติบโตเพิ่มเติมเลย ไทยยังรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยได้มากกว่า 4% ซึ่งมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และหากสามารถเจรจากับสหรัฐให้ไทยได้รับอัตราภาษีในระดับเดียวกับประเทศอื่น ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้อีกมาก” นายพิชัยกล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2568