สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนามร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025
เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ Vietnam–Thailand Business Forum 2025 สองผู้นำร่วมเวที แสดงวิสัยทัศน์เศรษฐกิจไทย–เวียดนามสู่อนาคตยั่งยืน
วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม เปิดฉากแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025 เวทีความร่วมมือครั้งสำคัญที่สะท้อนพลังของภาคเอกชนไทยและเวียดนาม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคร่วมกันอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับเกียรติจาก ท่านแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วยท่านฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้นำรัฐบาลจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ ณ ห้อง Thang Long Ballroom ชั้น 7 โรงแรม Melia



คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม เปิดเผยว่า เวทีนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ 6 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม สภาธุรกิจไทย–เวียดนาม และสมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในทุกระดับ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ นโยบาย และประชาชน




ท่านแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถ้อยแถลงเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งหัวใจสำคัญคือการเร่งส่งเสริมการเชื่อมโยง value chain ทางเศรษฐกิจของไทยและเวียดนามเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละฝ่ายที่เกื้อกูลกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับไทยและเวียดนามเป็นสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในโลก และอันดับที่ 2 ในอาเซียน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของเวียดนามในโลกและอันดับที่ 1 ในอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเป้าหมายการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ได้โดยเร็ว
นอกจากนั้น กว่าร้อยละ 50 ของการค้าไทย-เวียดนามเป็นการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบและส่วนประกอบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยและเวียดนามมีความเกี่ยวโยงกันอย่างมากและหลายธุรกิจอยู่ใน value chain เดียวกัน ดังนั้น “การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง หมายถึงโอกาสของอีกประเทศหนึ่งด้วย” โดยการจัดงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025 ในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือระยะยาว โดยเน้นการผลักดันเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตไปพร้อมกัน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน หรือ Three Connects ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของงาน Business Forum ในวันนี้ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน
(1)การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ไทยและเวียดนามมีศักยภาพร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และเซมิคอนดักเตอร์
(2)การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม ผ่านเมืองคู่มิตรกว่า 20 เมือง พร้อมทั้งเตรียมเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเมืองในสองประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว
(3)การเชื่อมโยงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน การสนับสนุนการเงินสีเขียว และการพัฒนาระบบชำระเงินข้ามพรมแดนให้รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำลง
ด้าน ท่านฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเวียดนามและไทยว่า มีรากฐานความไว้วางใจที่ลึกซึ้งและยาวนาน โดยย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างสองชาติ นอกจากนั้น การพัฒนาการของความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามในระดับผู้นำ
โดยเฉพาะการจัดตั้งความสัมพันธ์ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เมื่อปี 2556 สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย และต่อมาในปี 2568 นี้ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ทั้งสองประเทศได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์สู่ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน” ที่ครอบคลุมทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นายกรัฐมนตรีเวียดนามเห็นว่าไทยและเวียดนามต้องยิ่งเพิ่มความร่วมมือโดยเฉพาะในระดับอาเซียนเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม โดยเวียดนามยังคงเดินหน้าการพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และดิจิทัล ทั้งการขยายท่าเรือ สนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมเวียดนามผ่านลาวและกัมพูชามายังไทย อีกทั้งยังมุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้านทรัพยากรมนุษย์ และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามยังยืนยันความตั้งใจในการสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงภาคธุรกิจไทยที่มีบทบาทสำคัญในเวียดนาม พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายเพื่อเอื้อต่อการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งสองประเทศเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง


คุณสนั่น อังอุบลกุล ในนามภาคเอกชนไทย กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย–เวียดนามตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงความไว้วางใจและศักยภาพที่เติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับเอกชนไทยที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม เรามุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนและประเทศเวียดนาม เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการลงนาม บันทึกความเข้าใจ (MOU) ในหลากหลายสาขา อาทิ การค้า การลงทุน การศึกษา เทคโนโลยี และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมเวที เสวนาจากผู้นำภาคเอกชนระดับสูง ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และแนวทางการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจไทย–เวียดนามสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน



(ภาพจาก มติชนออนไลน์, thaigov.or.th และ vietnam.vn)
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 พฤษภาคม 2568