ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยมาแรง มาเลย์-ญี่ปุ่น-ฮ่องกง แห่ลงทุน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์มาแรง มูลค่าทุนจดทะเบียนทะลุ 4.8 พันล้าน มาเลย์-ญี่ปุ่น-ฮ่องกง สนใจแห่เข้ามาลงทุนในไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าจับตามองและชี้ช่องโอกาสทั้งตลาดในประเทศไทยและโลกเพื่อให้นักธุรกิจไทยสามารถนำช่องว่างไปต่อยอดทางธุรกิจไทยได้
โดยในครั้งนี้พบว่า ‘ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ กำลังเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อตลาดโลก เพราะได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งยุคดิจิทัลที่รอบตัวเราเต็มไปด้วยเครื่องมือสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น Smart Phone, Smart TV, แท็บเลต หรือสื่อโฆษณาดิจิทัลก็ดี จะต้องได้รับการผลิตข้อมูลที่จะใส่ไปในเครื่องมือต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทางจากนักสร้างคอนเทนต์ (Digital Content Creator) นั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเกิดธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ขึ้น
ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยอาจจะไม่ได้หวือหวาเหมือนในต่างประเทศ เพราะยังมีความท้าทาย 3 ด้านคือ 1.เงินทุน ทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้โดยเฉพาะการจ้าง Content Creator ที่มีฝีมือดี มีค่าตัวที่สูง เครื่องมือที่ใช้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ อย่างอุปกรณ์ Hardware และ Software ที่ถือเป็นต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กยังเข้าไม่ถึง
2.บุคลากร นักออกแบบคอนเทนต์ของไทยมีความสามารถดี แต่ยังขาดตลาดในประเทศที่ช่วยพัฒนาทักษะให้เติบโตขึ้น และ 3.ตลาด ส่วนใหญ่ตลาดในประเทศไทยจะเป็นการส่งออกคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศมากกว่าการบริโภคในประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีพื้นที่อีกมากที่รอนักลงทุนไทยมาครองตลาดในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับภาครัฐได้เห็นความสำคัญของธุรกิจนี้ หลายหน่วยงานได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ผลักดันให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยการจัดงานแสดงศักยภาพต่าง ๆ พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีในการผลิต การออกมาตรการช่วยเหลือที่สอดรับกับความต้องการของธุรกิจโดยตรง
รวมถึงการส่งเสริม Thai Style ที่จะเป็นจุดแข็งสร้างความแตกต่างบนตลาดโลก สะท้อนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างแดน
จากข้อมูลนิติบุคคลในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 1,071 ราย ทุนจดทะเบียน 4,806 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทดังนี้ แอนิเมชั่น/แคแร็กเตอร์ จำนวน 299 ราย ทุนจดทะเบียน 1,464 ล้านบาท เกมจำนวน 257 ราย ทุนจดทะเบียน 1,217 ล้านบาท และ e-Book จำนวน 515 ราย ทุนจดทะเบียน 2,125 ล้านบาท
ส่วนใหญ่จัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ ด้านการลงทุนจากชาวต่างชาติ พบว่ามีมูลค่าการลงทุน 834 ล้านบาท แบ่งเป็น แอนิเมชั่น/แคแร็กเตอร์ 272 ล้านบาท เกม 422 ล้านบาท และ e-Book 139 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 172 ล้านบาท ญี่ปุ่น 146 ล้านบาท และฮ่องกง 117 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่าธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยประเภท e-Book (คิดเป็น 48% ของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งหมด) เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้และกำไรได้ดีที่สุดต่อเนื่อง โดยปี 2566 กลุ่ม e-Book มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3,971 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตและบริโภคในประเทศ สร้างรายได้ 3,162 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวของธุรกิจรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่โลกออนไลน์
นอกจากนี้ กลุ่มแคแร็กเตอร์ก็เป็นที่น่าจับตามอง เพราะเริ่มมีนักออกแบบแคแร็กเตอร์ชาวไทยที่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักอย่าง Plaplatootoo ซึ่งได้รับไอเดียมาจากปลาทูแม่กลอง และบางรายยังสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศและยังเชื่อมโยงกับธุรกิจ Art Toy ที่กำลังเป็นกระแสนิยม กลุ่มแคแร็กเตอร์ยังสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้า Merchandise ประเภทต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น การสร้างแคแร็กเตอร์ของ Butter Bear หรือหมีเนยที่เป็นจุดเริ่มต้นจากร้านขนมที่สื่อสารผ่านมาสคอตแคแร็กเตอร์หมี จนเป็นที่โด่งดังและมีสินค้าที่เป็นตัวแทนของ Butter Bear ออกสู่ตลาดตามมา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 26 ธันวาคม 2567