ไทยพร้อมเต็มร้อย ประชุม APEC 2022 หวังบูมเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ไทยลั่นพร้อมจัดประชุมเอเปค 2 เวทีใหญ่ ดึงผู้นำรัฐ-ซีอีโอเอกชน 21 เขตเศรษฐกิจ ถกทิศทางเศรษฐกิจโลก รับมือความท้าทายใหม่ สปอตไลต์สาดส่องไทย โชว์ศักยภาพทุกมิติ ดัน BCG เคลื่อนประเทศสู่ยุคใหม่ หอการค้าไทย ประเมิน 5 พันคนบินเข้าไทย ดูดเงินเข้าประเทศกว่า 2 หมื่นล้าน
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ของประเทศไทยในปีนี้ ถือมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจไทยและ 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปคนับจากนี้เป็นอย่างยิ่ง จากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ถึง ณ เวลานี้ ไทยได้มีการจัดประชุมที่เกี่ยวเนื่องเอเปคมาแล้วหลายสิบเวที ทั้งประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
โค้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.จะมีการประชุม APEC CEO Summit 2022 ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นของซีอีโอจากบริษัทชั้นนำของไทยและของภูมิภาค คู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ในวันที่ 18-19 พ.ย. โดยทั้ง 2 เวทีใหญ่จะเป็นการประชุมแบบพบปะเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลายภาคส่วนตั้งคำถาม การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค
ครั้งนี้ ไทยและประเทศสมาชิกจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจและนักวิชาการระบุไทยได้อานิสงส์ในครั้งนี้ในหลายด้าน
เชื่อมโยงเคลื่อนเศรษฐกิจโลก :
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดประชุมเอเปคของไทยในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญ เพราะจะเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจ และ 3 ประเทศที่เป็นแขกพิเศษของรัฐบาล (กัมพูชา ฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย) ได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของภูมิภาคยกระดับขึ้น (จีดีพีเอเปคสัดส่วน 55% จีดีพีโลก) เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ เป็นการรวมตัวกันของผู้นำเอเปค และซีอีโอภาคเอกชน ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศ รวมถึงผู้นำความคิดจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ที่จะมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโลก รวมถึงแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และจัดการกับความท้าทายที่ภาคธุรกิจและโลกกำลังเผชิญ
ในส่วนของการประชุม APEC CEO Summit 2022 ซึ่งเป็นเวทีของภาคเอกชนในครั้งนี้ มองว่าจะช่วยเปิดโอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ และซีอีโอภาคเอกชนที่ได้รับเชิญในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียง และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสิ้น
คาดดูดเงินเข้าไทย 2 หมื่นล้าน :
“หอการค้าไทย คาดการจัดประชุมเอเปคช่วงกลางเดือนนี้ จะมีแขกที่เข้าร่วมของภาครัฐ และการจัดงานของเอกชนรวมผู้ติดตามแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คน คาดจะเกิดเงินหมุนเวียนโดยตรงในระบบทันทีประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท และจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จะมีการออกข่าวและประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปทั่วโลก จะมีผลต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย ทั้งในแง่การค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนจากนานาชาติโดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้ต่างชาติได้เห็น ประเมินผลทางอ้อมหลังจบงาน จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 10,000-20,000 ล้านบาท”
เวที“ซีอีโอ ซัมมิท”คึกคัก :
ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานจัดงาน APEC CEO Summit 2022 เผยว่า ณ เวลานี้มีความพร้อมในการจัดประชุมแล้ว 95% โดยได้เชิญผู้นำเขตเศรษฐกิจเข้าร่วมงาน 8-9 ผู้นำที่ตอบรับเข้าร่วมแล้ว เช่น นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ, นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส ประธานาธิบดีเปรู, นายกาบริเอล โบริช ฟอนต์ ประธานาธิบดีชิลี, นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และนายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ส่วนที่รอการตอบรับ เช่น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เป็นต้น
ส่วนซีอีโอภาคเอกชนระดับโลกที่ตอบรับร่วมงานแล้ว เช่น ศ.เคล้าส์ ชวาป ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum, โห่ย หลิงตัน ผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ (Grab) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของโลก เช่น Johnson & Johnson, Meta, Google และ Exxon เป็นต้น และยังอยู่ระหว่างรอยืนยันอีกหลายราย โดยการประชุมครั้งนี้จะมีซีอีโอชั้นนำจากต่างประเทศและของไทยร่วมประชุม 500-800 คน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญนำเสนอผลสรุปต่อเวทีผู้นำ เพื่อร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนต่อไป
ABAC เตรียมชงผู้นำ 5 เรื่องใหญ่ :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC) กล่าวว่า ได้เตรียมนำข้อสรุปและข้อเสนอแนะจาก 5 คณะทำงานของ ABAC ไปยังผู้นำเอเปคเพื่อช่วยขับเคลื่อนได้แก่ 1.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกการเปิดการค้าเสรี 2.การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล 3.ด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ที่ต้องการฟื้นฟูและพัฒนา หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด 4.ด้านความยั่งยืนที่มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมไปสู่ Net Zero ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร และ 5.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมการเงินดิจิทัล
แนะเจรจา“สี”ดึงจีนเที่ยวไทย :
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การจัดประชุมเอเปค 2022 ในไทย เป็นจังหวะที่เหมาะสมมาก ซึ่งจะเแสดงถึงความพร้อมของไทย ในการต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ สร้างจุดแข็งในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปทั่วโลก ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่น ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย เป็นโอกาสในการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ
“นายกรัฐมนตรีของไทยน่าจะใช้โอกาสนี้หารือกับผู้นำของประเทศต่าง ๆ ถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ รวมไปถึงการหารือนอกรอบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ที่แม้ปัจจุบันจีนยังมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์อยู่ แต่ก็ต้องใช้ศิลปะในการเจรจาว่าไทยพร้อมรอรับนักท่องเที่ยวจีนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะทราเวล บับเบิ้ล หรือเป็นบางมณฑล”
4 ชาติใหญ่ถกทวิฯผู้นำไทย :
ผู้สื่อข่าวรายงาน มีกระแสข่าวจากเดิมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย จะมีการพบและหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 18 พ.ย. แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 19 พ.ย. หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ในวันเดียวกันนายกฯ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ในช่วงค่ำ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เช่นกัน
ขณะที่เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย จะนำคณะภาครัฐและเอกชนของซาอุฯกว่า 500 คนเยือนไทย โดยมีกำหนดการพบกับนายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 18 พ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล ไฮไลท์สำคัญจะมีการลงนาม MOU 2 ฉบับสำคัญ ในความร่วมมือด้านการลงทุน และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลนีและนวัตกรรม รวมถึงการจะมีเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนไทยด้วย
ส่วนในการหารือของนายกรัฐมนตรีไทยกับ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ถึงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาไทย-ฝรั่งเศส เฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและและพัฒนายางพารา รวมถึงการขยายการลงทุนของมิชลิน หนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ในไทย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565